มวยไทย : มรดกทางวัฒนธรรมของคนไทยและกีฬาแห่งประชาคมโลก

ผู้เรียบเรียง :
สุเมฆ จีรชัยสิริ, นิติกรปฏิบัติการ กลุ่มงานบริการวิชาการ 3 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2562-10
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

หากกล่าวถึง "มวยไทย" เชื่อว่าคนไทยต่างรู้จักกันเป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นศิลปะการต่อสู้อันเป็นเอกลักษณ์ของชาติมาอย่างยาวนาน ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชาติไทยปรากฏศิลปะการต่อสู้ชนิดนี้ทั่วทุกภูมิภาคและมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป อาทิ มวยท่เสาของภาคเหนือ มวยไชยาของภาคใต้มวยโคราชของภาคอีสาน รวมถึงมวยลพบุรีและมวยพระนครของภาคกลาง จนมีคำกล่าวว่า "หมัดหนักโคราชฉลาดลพบุรี ท่าดีไชยา ไวกว่าท่าเสา" 

ท่าของการใช้ศิลปะมวยไทยที่สำคัญ เรียกว่า "แม่ไม้มวยไทย" จัดว่าเป็นท่าพื้นฐานของการชกมวยไทย ซึ่งผู้ฝึกมวยไทยต้องเรียนรู้และต้องปฏิบัติให้ได้ก่อนขึ้นสู่สังเวียน ซึ่งบูรพาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิมวยไทย ได้จัดแบ่งแม่ไม้มวยไทยออกเป็น 15 ไม้ ได้แก่ สลับฟันปลา ปักษาแหวกรัง ชวาซัดหอก อิเหนาแทงกริชยอเขาพระสุเมรุ ตาเถรค้ำฝึก มอญยันหลัก ปีกลูกทอย จระเข้ฟาดหาง หักงวงไอยรา นาคาบิดหาง วิรุฬหกกลับดับชวาลา ขุนยักษ์จับลิง และหักคอเอราวัณ นอกจากนั้นยังมีท่ของการใช้ศิลปะวยไทยที่แยกย่อยออกมาจากแม่ไม้ เรียกว่า "ลูกไม้มวยไทย" ซึ่งผู้ฝึกฝนจะต้องผ่านการฝึกท่าแม่ไม้มวยไทยให้ได้เสียก่อน แบ่งออกเป็น 15 ไม้ เช่น เอราวัณเสยงา บาทาลูบพักตร์ เป็นต้น

นอกจากนี้สิ่งที่ขาดไม่ได้ของการชกมวยไทย นั่นก็คือ "การร่ายรำไหว้ครูมวยไทย" ซึ่งถือเป็นประเพณีที่สำคัญของมวยไทย เป็นพิธีการอันศักดิ์สิทธิ์ ผู้ที่จะได้รับการฝึกฝนให้เป็นนักมวยจะต้องมีการขึ้นครูเสียก่อน เปรียบเสมือนการมอบตนเองให้อยู่ภายใต้การอบรมสั่งสอนของครูบาอาจารย์ ฝากเนื้อฝากตัวกับครูต้องเคารพและเทิดทูนครู เพื่อศึกษาวิทยาการต่าง ๆ ให้เป็นนักมวยที่หาญกล้า

มวยไทยนั้นได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น และเฟื่องฟูในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงโปรดให้จัดการแข่งขันชกมวยหน้าพระที่นั่ง โดยคัดเลือกนักมวยฝีมือดีจากทั่วทุกภาคมาประชันแข่งขันกัน นักมวยคนใดทำการชกแล้วเป็นที่พอพระราชหฤทัยก็จะทรงพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้ และโปรดเกล้าฯ ให้กรมศึกษาธิการในขณะนั้นบรรจุการสอนมวยไทยเป็นวิชาบังคับในโรงเรียนฝึกหัดครูพลศึกษาอีกด้วย ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 มีการใช้เชือกพันมือเพื่อชกมวย และเปลี่ยนมาใช้การสวมนวมแทน ต่อมามีการกำหนดกรอบกติกาการชกมวยและจัดตั้งเวทีมวยที่เป็นมาตรฐานสากลแห่งแรก นั้นคือเวทีมวยลุมพินีและเวทีมวยราชดำเนิน

ปัจจุบันมวยไทยได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ มีการจัดการแข่งขันชกมวยไทยในระดับอาชีพโดยการควบคุมของสภามวยไทยโลก (World Boxing Council Muaythai) หรือ WBC มวยไทย และจัดตั้งองค์กรที่เกี่ยวข้องกับมวยไทย เช่น สหพันธ์มวยไทยสมัครเล่นนานาชาติ (International Federation of Muaythai Associations) หรือ IFMA โดยมีแผนจะผลักดันมวยไทยเข้าสู่การแข่งขันกีฬาโอลิมปีก จากนั้นเมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2557 องค์การสหประชาชาติ (United Nation) ได้ให้การยอมรับมวยไทยเป็นกีฬาแห่งประชาคมโลก ด้วยการลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับสภามวยไทยโลกและสหพันธ์มวยไทยสมัครเล่นนานาชาติอีกด้วย

ภาพปก