ปัญหาการนำเข้าขยะจากต่างประเทศ

ผู้เรียบเรียง :
อรณิช รุ่งธิปานนท์, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2562-09
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่เป็นกระแสหลักของโลกในปัจจุบัน สนับสนุนให้มีการพัฒนาระบบอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการสามารถผลิตสินค้าได้ครั้งละจำนวนมาก และยังสามารถลดตันทุนในการผลิตได้อีกด้วย แต่ในอีกด้านหนึ่งการผลิตจำนวนมากคือการเพิ่มขยะในสิ่งแวดล้อม ทั้งจากกระบวนการผลิตและการใช้สอยของผู้บริโภค

เมื่อเกิดขยะหรือของเสียอันตรายจากกระบวนการผลิต ผู้ประกอบการย่อมต้องกำจัดหรือเคลื่อนย้ายของเสียเหล่านั้น ของเสียบางอย่างสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้ อย่างเช่น เศษเหล็ก ทองแดง เซรามิกพลาสติก และกระดาษ แต่ในช่วงเวลากว่าสิบปีที่ผ่านมา ของเสียอันตรายจำนวนมากจากกระบวนการผลิตในประเทศอุตสาหกรรมได้ถูกเคลื่อนย้ายเพื่อนำไปทิ้งในประเทศกำลังพัฒนา แม้ว่าในปัจจุบันจะมีอนุสัญญาบาเชล (Basel Convention) ว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายและการกำจัดของเสียอันตรายข้ามแดน ซึ่งมีประเทศต่าง ๆ 187 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ได้ให้สัตยาบันเข้าร่วมเป็นภาคีแล้วก็ตาม อนุสัญญาดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมการนำเข้าและส่งออกของเสียอันตรายให้เกิดความปลอดภัย และเพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการจัดการของเสียอันตราย

อย่างไรก็ตาม อนุสัญญาบาเซลก็ไม่อาจป้องกันการนำเข้าของเสียอันตรายได้อย่างเบ็ดเสร็จ ปัจจัยสำคัญย่อมขึ้นอยู่กับการควบคุม ระบบคัดแยก และการตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการออกใบอนุญาตนำเข้าขยะและกากอุตสาหกรรมของประเทศกำลังพัฒนาด้วย ของเสียที่นำเข้ามานั้นไมใช่เป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์ทั้งหมด อย่างเช่น เศษโลหะบางอย่างสามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในโรงงานอุตสาหกรรมได้ แต่ที่เกิดปัญหา คือ ของเสียที่ยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ มักถูกส่งมาพร้อมกับขยะอันตรายหรือกากสารเคมีต่าง ๆ เช่น ตะกั่วปรอท สารหนู แคดเมียม เป็นต้น ซึ่งประเทศกำลังพัฒนาอาจไม่มีระบบตรวจสอบและวิธีการกำจัดขยะพิษเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ท้ายที่สุดขยะเหล่านี้ก็จะรั่วไหลสู่ชุมชนและก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อม

สำหรับประเทศไทย กรมโรงงานอุตสาหกรรมอนุญาตให้นำเข้าขยะบางประเภทเพื่อนำมาแปรรูปเป็นวัตถุดิบที่เป็นประโยชน์ต่อไปได้ แต่เมื่อมีการตรวจสอบกลับพบว่ามีการนำเข้าขยะมาอย่างผิดเงื่อนไข มีการลักลอบนำศษซากอิเล็กทรอนิกส์และพลาสติกที่ใช้ไม่ได้ปะปนเข้ามาภายในประเทศด้วย โดยในช่วงสองปีที่ผ่านมา ปริมาณการนำเข้าขยะสูงขึ้นมาก โดยใน พ.ศ. 2558 มีการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกประมาณ 7.7 หมื่นตัน แต่ใน พ.ศ. 2560 มีปริมาณเกือบ 3 แสนตัน และใน พ.ศ. 2561 สูงถึงกว่า 6.2 แสนตัน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และพลาสติกรายใหญ่ของโลกได้ห้ามนำเข้าขยะ 24 ประเภทเมื่อปลาย พ.ศ. 2560 ทำให้ขยะเป็นจำนวนมากเปลี่ยนทิศทางไปยังประเทศที่มีการควบคุมน้อยกว่า ซึ่งเป้าหมายใหม่คือประเทศในอาเชียน ซึ่งรวมถึงมาเลเซีย เวียดนาม และประเทศไทยด้วย

จากปัญหาดังกล่าว รัฐบาลไทยจึงได้ออกมาตรการต่าง ๆ เช่น 1) กรมศุลกากรมีการลดโควตาการนำเข้าเศษพลาสติกจากหลายแสนตัน เหลือ 70,000 ตัน ตั้งแต่ พ.ศ. 2560 เป็นต้นมา 2) คณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินได้มีมติเมื่อเดือนมิถุนายน 2561 ระงับการอนุญาตนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จากโรงงานที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องตามอนุสัญญาบาเซล และ 3) คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อ เดือนมิถุนายน 2562 อนุมัติในหลักการร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดชนิดและแหล่งกำเนิดวัตถุดิบที่จะนำมาใช้ในโรงงาน เพื่อกำหนดนิยามขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้มีความชัดเจน และกำหนดข้อห้ามไม่ให้โรงงานใช้ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่นำเข้าจากต่างประเทศมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตของโรงงาน เป็นต้น

เมื่อประเทศไทยออกมาตรการเข้มงวดขึ้น ขยะอันตรายเหล่านี้ก็ย้ายที่ไปยังประเทศที่มีกฎหมายควบคุมการนำเข้าขยะน้อยกว่า อย่างเช่น อินโดนีเซีย อินเดีย และปากีสถานต่อไป ซึ่งขยะเหล่านี้จะเคลื่อนย้ายเปลี่ยนที่ไป และท้ายที่สุดจะไปยังประเทศที่ไม่สามารถจัดกรกับปัญหาขยะได้ ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า ปัญหาขยะ คือ ปัญหาระดับโลก ที่นานาประเทศจะต้องรับผิดชอบและแก้ไขร่วมกัน เพราะไม่ว่าขยะและกากสารพิษจะถูกผลักไปที่ใด แต่ท้ายที่สุดก็ยังคงอยู่ในโลกใบนี้ และส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในทุกประเทศไม่ทางใดก็ทางหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ภาพปก