การประชุมลับของสภาผู้แทนราษฎร

ผู้เรียบเรียง :
สุภัทร คำมุงคุณ, วิทยากรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2563-10
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

การประชุมสภาถือเป็นบทบาทสำคัญของสมาชิกในการทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติ โดยตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหลายฉบับที่ผ่านมา ได้กำหนดให้การประชุมสภาต้องเป็นไปโดยเปิดเผยตามลักษณะที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุมของแต่ละสภา เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และประชาชนได้รับรู้ข้อมูล สามารถตรวจสอบการทำงานได้ เพื่อเป็นหลักประกันว่าการประชุมสภายึดถือประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ โดยต้องคำนึงถึงเสียงข้างน้อยด้วย

อย่างไรก็ตาม บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนับแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 เรื่อยมา กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถประชุมลับได้ เมื่อคณะรัฐมนตรีร้องขอหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรวมกันไม่ต่ำกว่าสิบห้าคนร้องขอ ต่อมารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 ได้มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการประชุมลับดังกล่าว โดยหากคณะรัฐมนตรีหรือสมาชิกของแต่ละสภาไม่ต่ำกว่ายี่สิบห้าคนร้องขอ ก็ให้ประชุมลับได้ ภายหลังได้มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการประชุมลับของแต่ละสภาอีกครั้งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 โดยกำหนดให้เพิ่มจำนวนสมาชิกของแต่ละสภาที่ร้องขอให้มีการประชุมลับ เพื่อให้เกิดสัดส่วนที่สมดุลกับจำนวนสมาชิกของสภาที่มีจำนวนมากขึ้นไปจากเดิม และยังคงสาระสำคัญในทำนองเดียวกันเรื่อยมาจนถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งได้กำหนดให้คณะรัฐมนตรีหรือสมาชิกแต่ละสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภารวมกัน มีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา หรือจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา แล้วแต่กรณี สามารถร้องขอให้มีการประชุมลับได้ และในกรณีที่มีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยหรือเศรษฐกิจของประเทศ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 155 ได้กำหนดให้มีการปรึกษาหารือร่วมกันระหว่างรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร โดยแจ้งไปยังประธานรัฐสภาขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งการประชุมดังกล่าวให้กระทำเป็นการประชุมลับ และคณะรัฐมนตรีมีหน้าที่ต้องเข้าร่วมประชุมด้วย โดยมุ่งหวังให้ฝ่ายการเมืองรับผิดชอบร่วมกันในการแก้ไขปัญหาของประเทศชาติ และให้ทุกฝ่ายสามารถอภิปรายได้อย่างเต็มที่โดยสุจริตใจ

ทั้งนี้ ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ได้กำหนดวิธีการประชุมลับของสภาผู้แทนราษฎร โดยห้ามบุคคลภายนอกเข้าฟังการประชุม เว้นแต่ผู้ที่ได้รับอนุญาตจากประธานของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น และให้ประธานของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรดำเนินการไม่ให้มีการบันทึกภาพ บันทึกเสียง หรือกระทำการใด ๆ ที่เป็นการถ่ายทอดการประชุมไปสู่บุคคลภายนอกโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งสภาอาจมีมติไม่ให้จดรายงานการประชุมลับครั้งใดทั้งหมด หรือไม่ให้จดรายงานการประชุมลับแต่เพียงบางส่วนก็ได้ แต่ให้มีการบันทึกเหตุการณ์ไว้ ส่วนสภาผู้แทนราษฎรจะเปิดเผยรายงานการประชุมลับหรือไม่นั้น เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้พิจารณาและเสนอความเห็นเพื่อให้สภามีมติว่าจะเปิดเผยรายงานการประชุมลับนั้นหรือไม่ 

ในอดีตที่ผ่านมาที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติเห็นชอบให้เปิดเผยรายงานการประชุมลับในบางเรื่อง ตัวอย่างเช่น เรื่อง ขอให้สภาฯ ร่วมกันพิจารณาปัญหาวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ และเรื่อง การสั่งระงับการดำเนินกิจการของสถาบันการเงิน 42 สถาบัน ซึ่งคณะกรรมาธิการพิจารณาเปิดเผยรายงานการประชุมลับ และตรวจรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเสร็จแล้ว เรื่อง การพิจารณาสรรหาบุคคลผู้สมควรเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเพิ่มเติม ซึ่งคณะกรรมาธิการตรวจรายงานการประชุมพิจารณาเสร็จแล้ว เป็นต้น

โดยทั่วไปแล้วการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรเป็นไปโดยเปิดเผย ซึ่งบุคคลภายนอกสามารถเข้าฟังการประชุมได้ตามระเบียบที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรกำหนด และมีการถ่ายทอดการประชุมทางวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่น โดยจัดให้มีล่ามภาษามือด้วย แต่หากคณะรัฐมนตรี หรือสมาชิกของแต่ละสภาเห็นสมควรให้มีการประชุมลับ ก็สามารถกระทำได้ตามบทบัญญัติที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้กำหนดไว้ กรณีการประชุมลับของสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมาส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเข้าดำรงตำแหน่ง ซึ่งการอภิปรายอาจมีการกล่าวพาดพิงถึงเรื่องส่วนบุคคล หรือเป็นเรื่องที่กระทบต่อความมั่นคงของประเทศที่อาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ ดังนั้น หากกระทำการประชุมสภาโดยเปิดเผยอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงหรือประโยชน์แห่งรัฐตามมาได้  

ภาพปก