ผู้สูงอายุกับการทบทวนใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ตลอดชีพ

ผู้เรียบเรียง :
อาริยา สุขโต, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2563-09
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

ปัจจุบันคนไทยรับรู้และตระหนักว่าประเทศไทยได้กลายเป็นสังคมสูงวัยแล้วตั้งแต่ปี 2548 จากสัดส่วนของประชากรที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป ที่มีจำนวนสูงถึงร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด และจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยโดยสมบูรณ์เมื่อจำนวนสูงถึงร้อยละ 20 ในปี 2564 ผู้สูงอายุบางส่วนที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ยังสามารถดำเนินกิจวัตรประจำวัน พบปะสังสรรค์ พบแพทย์ตามนัดหมาย หรือการเดินทางท่องเที่ยวด้วยตัวเอง ดังนั้น การเดินทางของผู้สูงอายุจะมีทั้งการใช้บริการขนส่งสาธารณะและการขับรถยนต์ส่วนตัว 

การขับรถยนต์เป็นการแสดงออกอย่างหนึ่งของความเป็นอิสระ การพึ่งพาตนเองได้ ผู้สูงอายุไทยจำนวนไม่น้อยที่ยังขับรถเอง การเกิดอุบัติเหตุจากการขับรถของผู้สูงอายุมักเกิดจากความเสื่อมสภาพของร่างกาย ความว่องไวในการตอบสนองต่อเหตุการณ์คับขันที่ช้าลง การทำงานระหว่างอวัยวะต่าง ๆ ที่มีการประสานงานได้ไม่ดีนักและสมาธิที่ลดลง ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ที่เคยขับรถเองเมื่อครั้งยังหนุ่มสาว จึงเชื่อมั่นว่าตนเองยังมีความสามารถจะขับได้อยู่ โดยความเสื่อมของร่างกายจะส่งสัญญาณทีละน้อยจนอาจไม่ทันสังเกต ซึ่งพบว่าปัจจุบัน ข่าวเกี่ยวกับอุบัติเหตุที่เกิดจากผู้ขับขี่ยานพาหนะเป็นผู้สูงอายุนั้นมีไม่น้อย ซึ่งมีเหตุปัจจัยที่แตกต่างกันออกไปแต่หนึ่งในปัจจัยเหล่านั้น ที่หลายฝ่ายเริ่มทบทวนและตั้งคำถามว่าผู้สูงอายุควรมีการกำหนดให้มีการทดสอบสมรรถภาพทางร่างกายในการขับขี่หรือไม่แม้จะมีใบขับขี่ตลอดชีพก็ตาม

ในประเทศไทยมีการกล่าวถึงมาตรการกำหนดการขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลของผู้สูงอายุ แม้จะยังไม่มีการกำหนดอายุของผู้ขับขี่ แต่ในต่างประเทศมีการกำหนดให้ผู้ที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป จะต้องได้รับการทดสอบร่างกายเพิ่มเติมทุก ๆ 3 ปี โดยประเทศไทยในปัจจุบัน มีผู้มีใบขับขี่ตลอดชีพ 12 ล้านใบโดยประมาณ แม้จะมีการยกเลิกไม่ออกใบอนุญาตขับขี่แบบตลอดชีพตั้งแต่ปี 2546 แต่ปัจจุบันมีผู้สูงอายุที่ขับขี่รถยนต์บนท้องถนนและมีใบอนุญาตขับขี่แบบตลอดชีพ ดังนั้น กรมการขนส่งทางบกจึงเริ่มศึกษาและมีแนวคิดการเรียกให้ผู้สูงอายุที่มีใบขับขี่แบบตลอดชีพจะต้องทดสอบสมรรถภาพความพร้อมของร่างกายในการขับรถใหม่อีกครั้ง เนื่องจากผู้สูงอายุแม้จะได้ใบอนุญาตขับขี่แบบตลอดชีพ แต่เมื่ออายุมากขึ้น สภาพร่างกาย เช่น การมองเห็นและการได้ยินอาจไม่สมบูรณ์เพียงพอในการขับขี่ ที่อาจจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ ซึ่งผู้ขับขี่สูงวัยบางส่วนยอมรับว่ามีโรคประจำตัวและเตรียมที่จะเลิกขับรถยนต์ บางส่วนเสนอให้ผู้ที่อายุมากขึ้น ควรมีการต่อใบขับขี่และรายงานการตรวจโรคทุกปีเหมือนนักบิน และเห็นความจำเป็นที่จะต้องทดสอบสมรรถภาพทางร่างกายใหม่ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นจากการใช้รถใช้ถนน

แม้ว่าจากข้อมูลพบว่าโดยส่วนใหญ่แล้วผู้สูงอายุมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุจากการขับรถน้อยกว่าคนในวัยหนุ่มสาว เนื่องด้วยผู้สูงอายุมักจะขับรถช้ากว่า ประสบการณ์การขับรถก็ยาวนานกว่าและมีความระมัดระวังไม่ดื่มแอลกอฮอล์ก่อนขับรถ แต่ถ้าผู้สูงอายุคนใดที่มีพฤติกรรมการขับรถที่ใช้ความเร็วสูงโอกาสการเกิดอุบัติเหตุยิ่งเพิ่มมากขึ้นกว่าคนหนุ่มสาว โดยส่วนใหญ่ถ้าอายุเกิน 70 ปี โอกาสเกิดอุบัติเหตุเพิ่มมากขึ้นและยิ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากถ้าอายุเกิน 80 ปี ดังนั้น เมื่อใดหากเกิดอุบัติเหตุขึ้น ผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะเกิดอุบัติเหตุที่รุนแรง อีกทั้งได้รับอันตรายมากกว่าและโอกาสถึงแก่ชีวิตสูงกว่าคนหนุ่มสาวถึง 9 เท่า

อนึ่ง การทบทวนใบขับขี่รถยนต์ตลอดชีพสำหรับผู้สูงอายุนั้น ปัจจุบันยังคงเป็นแนวคิดและอยู่ระหว่างศึกษาข้อกฎหมาย อีกทั้งแนวทางการทดสอบสมรรถภาพทางร่างกายของผู้ที่มีอายุมากขึ้น โดยจะศึกษาหลักเกณฑ์ของต่างประเทศเพื่อนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทย ว่าจะดำเนินการอย่างไรในการคัดกรองผู้ที่ร่างกายเสื่อมสมรรถภาพ หรือมีสภาวะโรคที่แพทย์วินิจฉัยแล้วว่ามีผลต่อประสิทธิภาพการขับขี่อย่างปลอดภัย เช่น โรคทางสมอง โรคปัญหาการมองเห็นที่รักษาไม่หาย เป็นต้น ซึ่งการศึกษาดังกล่าวต้องหารือกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และแพทยสภา อีกทั้งต้องพิจารณาข้อกฎหมายประกอบเพื่อไม่ให้กระทบสิทธิผู้ถือใบอนุญาตขับรถตลอดชีพ ดังนั้น จึงต้องติดตามว่ากรมการขนส่งทางบกจะมีแนวทางเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวอย่างไรในอนาคต ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของผู้ขับขี่และผู้ใช้รถใช้ถนนร่วมกัน

ภาพปก