กังหันลมผลิตไฟฟ้า : พลังงานสะอาดจากพลังงานลม

ผู้เรียบเรียง :
ณิชชา บูรณสิงห์, วิทยากรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานบริการวิชาการ 3 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2565-02
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ขณะนี้โลกต้องเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ ได้แก่ การเผาไหม้ของเชื้อเพลิงที่มีคาร์บอนไดออกไซด์เป็นส่วนประกอบ เช่น การคมนาคมขนส่ง การอุตสาหกรรม และการผลิตไฟฟ้า เป็นต้น ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม ทำให้หลายประเทศได้ตระหนักถึงผลกระทบดังกล่าว จึงร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหา โดยลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และหันมาใช้พลังงานทดแทนหรือพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้า เช่น การผลิตไฟฟ้าจากกังหันลม พลังงานลมเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดตามธรรมชาติ พลังงานลมจะสะสมอยู่ในรูปของพลังงานจลน์ และเปลี่ยนเป็นพลังงานกลโดยอาศัยกังหันลม ซึ่งพลังงานลมเป็นทรัพยากรธรรมชาติมีอยู่ทั่วไป ไม่มีค่าใช้จ่าย ใช้แล้วไม่หมด และไม่ปล่อยของเสียที่เป็อันตรายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม จึงถือว่าการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมด้วกังหันลมเป็นส่วนสำคัญของการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและวิกฤติพลังงานได้อีกทางหนึ่ง

ข้อมูลจากสำนักงานพลังงานหมุนเวียนนานาชาติ (International Renewable Energy Agency : IRENA) พบว่า ใน พ.ศ. 2561 มีการสำรวจการผลิตไฟฟ้าจากฟาร์มบนบกและฟาร์มกลางน้ำทั่วโลก 5 อันดับคือ 1) สาธารณรัฐประชาชนจีน 211,392 เมกะวัตต์ 2) สหรัฐอเมริกา 96,665 เมกะวัตต์ 3) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี 59,311 เมกะวัตต์ 4) สาธารณรัฐอินเดีย 35,129 เมกะวัตต์ 5) ราชอาณาจักรสเปน 23,494 เมกะวัตต์ และคาดว่าอัตราการเติบโตของฟาร์มบนบกชะลอตัว โดยมีสาเหตุจากสาธารณรัฐประชาชนจีนและสหรัฐอเมริกาลดระดับการขยายโครงการลงแต่อัตราการเติบโตของกำลังการผลิตทั่วโลกเพิ่มขึ้น 850,000 เมกะวัตต์ใน พ.ศ. 2567 สำหรับฟาร์มกลางน้ำมีอัตราเติบโตมากกว่าฟาร์มบนบกและกำลังการผลิตทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 65,000 เมกะวัตต์ ใน พ.ศ. 2567 และ พ.ศ. 2568 และจากการสำรวจของสภาพลังงานลมโลก (Global Wind Energy Council : GWEC) พบว่า ประเทศไทยเป็นผู้นำในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งอยู่ในลำดับที่ 34 ของโลก จากทั้งหมด 61 ประเทศ ทั้งนี้ ประเทศไทยมีการผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมจากฟาร์มบนบกทั้งหมด สำหรับข้อดีของพลังงานลม คือ 1) พลังงานลมไม่มีค่าใช้จ่ายในด้านการจัดหาพลังงาน 2) ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 3) ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีศักยภาพสามารถป้อนกระแสไฟฟ้าให้กับชุมชนได้โดยตรง โดยไม่ต้องเสียค่าเดินสายไฟฟ้าจากแหล่งผลิต แต่ข้อจำกัดของพลังงานลม คือ 1) กังหันลมขนาดใหญ่อาจบดบังต่อทัศนียภาพส่วนต่าง ๆ ของพื้นที่ 2) กังหันลมมีใบพัดขนาดใหญ่ เมื่อทำงานจะเกิดเสียงดังรบกวนผู้อยู่ใกล้เคียง 3) การรบกวนคลื่นวิทยุและโทรทัศน์ในระยะ 1-2 กิโลเมตร 4) ผลกระทบต่อระบบนิเวศ ทำให้สิ่งมีชีวิตใกล้เคียงอพยพไปอยู่ที่อื่น 5) ไม่สามารถควบคุมความสม่ำเสมอของพลังงานได้ ทั้งนี้ กังหันลมที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลและภูเขา

ดังนั้น การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมด้วยกังหันลม ถือว่าเป็นพลังงานทดแทนรูปแบบหนึ่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นพลังงานสะอาด รวมถึงช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน แต่ความไม่แน่นอนของความสม่ำเสมอของลมที่แปรผันตามธรรมชาติและสถานที่ติดตั้งกังหันลม ทำให้ปัจจุบันยังไม่สามารถส่งเสริมให้เป็นพลังงานหลักของประเทศได้ ดังนั้น รัฐควรมีการสนับสนุนและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นประโยชน์ต่อชุมชนที่อยู่ห่างไกลไฟฟ้าไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ได้รวมถึงเป็นการเพิ่มขีดความสามารถและพัฒนาแหล่งพลังงานใหม่ ๆ ให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้สามารถลดต้นทุนราคาพลังงานและการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศได้ แต่อย่างไรก็ตาม หากจะผลักดันให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมด้วยกังหันลมเติบโตและมีประสิทธิภาพ อาจต้องขอความร่วมมือกับภาคเอกชนในการศึกษาและดำเนินการ เนื่องจากมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย จึงจะทำให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะแนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์ได้มีการเปลี่ยนเป็นรถยนต์เป็นระบบไฟฟ้าแล้ว ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานอีกทางหนึ่ง และช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะมลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ที่เป็นปัญหาในปัจจุบัน

ภาพปก