เมืองอัจฉริยะ (Smart City)

ผู้เรียบเรียง :
โชคสุข กรกิตติชัย, วิทยากรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2566-01
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

เมื่อพูดถึง “เมืองอัจฉริยะ” (Smart City) หลายคนคงนึกถึงเมืองที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยี ในขณะเดียวกันก็มีความเป็นเมืองสีเขียวที่รักษาสภาพแวดล้อมไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งสิ่งที่อยู่ในความคิดเหล่านี้ เป็นสิ่งที่รัฐบาลพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นในประเทศไทย จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าทั่วโลกต่างก็มีพัฒนาการของตัวเองตามลำดับขั้นที่เหมือน ๆ กัน กล่าวคือ เริ่มต้นจากประเทศเกษตรกรรมไปสู่ประเทศอุตสาหกรรม   ซึ่งต่อมาอุตสาหกรรมหนัก ๆ ก็อาจก่อให้เกิดมลพิษ หากไม่มีการควบคุมที่ดีพอ จึงจำเป็นต้องพัฒนาไปสู่การกำหนดขอบเขตพื้นที่ด้วยการสร้างนิคมอุตสาหกรรมและบ้านเรือนให้แยกออกจากกัน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีที่ปล่อยมลพิษให้น้อยที่สุด ในปัจจุบันนี้ โลกกำลังก้าวเข้าสู่การเป็น “เมืองอัจฉริยะ”  ซึ่งแน่นอนว่า หากประเทศใดเริ่มมีแนวคิดเช่นนี้ ก็เป็นสิ่งที่บ่งบอกได้ว่า ประเทศนั้นได้มีการพัฒนาไปในระดับหนึ่ง ซึ่งประเทศไทยก็ได้มีการพัฒนาแล้วเช่นกัน

รัฐบาลในสมัยของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ในปี 2560 ได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ โดยถือเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งแต่งตั้ง “คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ” ขึ้น โดยมีรองนายกรัฐมนตรี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง เป็นประธานกรรมการ และมีเลขานุการร่วม 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย 1) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) 2) สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และ 3) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) โดยคณะกรรมการดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่ในการเสนอร่างยุทธศาสตร์ และแผนแม่บทการพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศตามแนวทางการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พร้อมทั้งประสานส่วนราชการและภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้เป็นไปอย่างคล่องตัว 

คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะได้ให้ความหมาย “เมืองอัจฉริยะ” ว่าหมายถึง “เมืองที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยและชาญฉลาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการและการบริหารจัดการเมือง ลดค่าใช้จ่าย และการใช้ทรัพยากร โดยการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจและภาคประชาชนในการพัฒนาเมือง ภายใต้แนวคิดการพัฒนาเมืองน่าอยู่ ทันสมัย ให้ประชาชนในเมืองอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืน” โดยเริ่มดำเนินการ 4 แห่งนำร่อง ได้แก่ 1) เมืองอัจฉริยะพื้นที่ศูนย์คมนาคมพหลโยธิน 2) โครงการอมตะสมาร์ทซิตี้ 3) เมืองอัจฉริยะพื้นที่จังหวัดภูเก็ต และ 4) เมืองอัจฉริยะ Smart EEC แหลมฉบัง ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ ปัจจุบันกระแสการพัฒนาเมืองภายใต้แนวคิดดังกล่าว เป็นกระแสที่ได้รับความนิยมอย่างยิ่งจากทั่วโลก และจากรายงานของ Smart City Tracker 1Q18 ซึ่งจัดทำโดยสถาบันวิจัยที่มีชื่อเสียงระดับโลกที่มีชื่อว่า “Navigant Research” ได้ทำการสำรวจจำนวนโครงการที่ถูกพัฒนาขึ้นภายใต้แนวคิดดังกล่าว พบว่าโครงการเมืองอัจฉริยะมีมากถึง 355 โครงการ ใน 221 เมืองทั่วโลก โดยให้มีส่วนร่วมของภาคธุรกิจและภาคประชาชนในการพัฒนาเมือง ภายใต้แนวคิด “การพัฒนาเมืองน่าอยู่ ทันสมัย ให้ประชาชนในเมืองอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืน” โดยมีการแบ่งกลุ่มเมืองอัจฉริยะและกรอบการพัฒนาออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1) เมืองอัจฉริยะน่าอยู่ คือ การฟื้นฟูเมืองเดิม พัฒนาให้เป็นเมืองน่าอยู่อัจฉริยะที่ใช้เทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่ง พลังงานและดิจิทัล ในการปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมเมืองที่มีอยู่เดิมให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น 2) เมืองอัจฉริยะทันสมัย คือ การพัฒนาเมืองใหม่โดยก่อสร้างพื้นที่เมืองขึ้นใหม่ทั้งหมด รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเมือง สาธารณูปโภค ที่อยู่อาศัย แหล่งงาน พาณิชยกรรม พื้นที่พักผ่อน ให้เป็นเมืองที่ทันสมัยระดับโลกเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคม การค้า การลงทุน การวิจัยพัฒนา ไปจนถึงการพัฒนานวัตกรรม 

นอกจากนั้น คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะยังได้กำหนดองค์ประกอบพื้นฐานไว้ 7 ด้าน คือ 1) ด้านเศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) มุ่งเน้นประสิทธิภาพและความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ สร้างให้เกิดความเชื่อมโยงและความร่วมมือทางธุรกิจ และประยุกต์ใช้นวัตกรรมในการพัฒนาเพื่อปรับเปลี่ยนธุรกิจ โดยจะผลักดันเมืองเป้าหมายเป็นศูนย์กลางธุรกิจบนฐานนวัตกรรม เช่น เมืองเกษตรอัจฉริยะ เมืองท่องเที่ยวอัจฉริยะ เป็นต้น 2) ด้านระบบขนส่งและการสื่อสารอัจฉริยะ (Smart Mobility) มุ่งเน้นการเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงระบบขนส่งมวลชน การเดินทางสะดวกปลอดภัย เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการระบบโลจิสติกส์ และการใช้ยานพาหนะประหยัดพลังงาน 3) ด้านพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) มุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของเมือง หรือใช้พลังงานทางเลือกเป็นพลังงานสะอาด (Renewable Energy) 4) ด้านสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) มุ่งเน้นปรับปรุงคุณภาพและเพิ่มประสิทธิภาพประสิทธิผลการบริหารจัดการ และติดตามเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมและสภาวะแวดล้อมอย่างเป็นระบบ 5) ด้านระบบบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance) มุ่งเน้นการพัฒนาระบบบริการเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการภาครัฐ เช่น Smart Portal เพิ่มช่องทางการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมถึงการเปิดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูล ทำให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ 6) ด้านพลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) มุ่งเน้นการพัฒนาผู้บริหารเมืองหรือผู้นำท้องถิ่นที่สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการพัฒนาเมือง สร้างพลเมืองที่มีความรู้และความสามารถในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และการเรียนรู้นอกระบบ รวมถึงการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันด้วยความหลากหลายทางสังคม และ 7) ด้านการดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) มุ่งเน้นการสนับสนุนให้มีระบบบริการที่อำนวยความสะดวกต่อการดำรงชีวิต เช่น บริการด้านสุขภาพให้ประชาชนมีสุขภาพและสุขภาวะที่ดี การเพิ่มความปลอดภัยของประชาชนด้วยการเฝ้าระวังภัยจากอาชญากรรมไปจนถึงการส่งเสริมให้เกิดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการดำรงชีวิตที่เหมาะสม

เมืองอัจฉริยะจึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้เกิดการกระจายตัวของความเจริญ ลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ และนำไปสู่การพัฒนาที่ช่วยให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืน สามารถเข้าถึงผู้คนในทุกระดับชั้น ทำให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คนให้มีความปลอดภัย รวมถึงเป็นแหล่งบ่มเพาะนักธุรกิจ นักพัฒนา เพื่อสร้างให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมในอนาคตตามความตั้งใจของรัฐบาล 
 

 

ภาพปก