การเสนอแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการตรวจวัดแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่

ผู้เรียบเรียง :
อาริยา สุขโต, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2564-07
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือสุราในโอกาสสังสรรค์ งานเลี้ยงและในชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องปกติสำหรับสังคมปัจจุบัน และพบว่างานเฉลิมฉลองส่วนใหญ่จะต้องมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบในงานเลี้ยงเสมอ เมื่อมีการดื่มและต้องขับขี่ยานพาหนะบนท้องถนนผู้ขับขี่มักคิดว่ามีความสามารถครองสติสัมปชัญญะ และควบคุมบังคับยานพาหนะในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้เช่นปกติ ทั้งความเชื่อมั่นประกอบกับความประมาท จึงทำให้สถิติอุบัติเหตุที่เกิดจากการเมาแล้วขับครองตำแหน่งสาเหตุอันดับต้น ๆ มาโดยตลอด ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งแอลกอฮอล์นั้นมีผลต่อการทำงานของสมอง ทำให้เกิดอาการแตกต่างไปตามระดับของแอลกอฮอล์ในกระแสเลือด ทั้งปวดศีรษะ มือสั่น ใจสั่น ตาสู้แสงสว่างไม่ได้ ไปจนถึงควบคุมตนเองไม่ได้ สูญเสียสติสัมปชัญญะ อีกทั้งมีผลกระทบโดยตรงต่อสมองส่วนหน้าซึ่งเป็นส่วนที่ควบคุมสติปัญญาและการตัดสินใจ ซึ่งตามกฎหมายได้กำหนดปริมาณแอลกอฮอล์จากการดื่มสูงสุดต้องไม่เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์

การตรวจวัดแอลกอฮอล์สามารถกระทำได้ใน 2 กรณี

กรณีแรก คือ การตรวจวัดแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่บนถนน ที่รู้จักกันในชื่อด่านตรวจวัดแอลกอฮอล์ หรือด่านตรวจเมาแล้วขับ ปัญหาในกรณีนี้ลดลงเพราะได้แก้ไขพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2557 โดยสาระสำคัญคือ "...ในกรณีที่มีพฤติการณ์อันควรเชื่อว่าผู้ขับขี่ขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น หากผู้นั้นยังไม่ยอมให้ทดสอบตามวรรคสามโดยไม่มีเหตุอันควร ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นฝ่าฝืนมาตรา 43 (2)" กล่าวคือ ขับรถในขณะเมาสุราหรือเมาของอย่างอื่น แต่ยังมิได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่คนอื่น กฎหมายก็ประสงค์ที่จะลงโทษเพื่อป้องกันเหตุร้ายที่อาจเกิดขึ้นแก่ผู้ขับขี่เองหรือแก่ผู้อื่น อันจะทำให้สังคมได้รับความเดือดร้อน คือ ให้สันนิษฐานว่าผู้ขับขี่เมาแล้วขับนั่นเอง และ

กรณีที่สอง คือ การตรวจวัดแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่เมื่อเกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะเมื่อผู้ก่อเหตุได้รับบาดเจ็บและเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล และพนักงานสอบสวนมีข้อสงสัยจะขอตรวจวัดแอลกอฮอล์ ซึ่งหลายกรณีที่พบว่าผู้ก่อเหตุจะปฏิเสธการตรวจวัดหรือยินยอมให้ตรวจภายหลังเกิดเหตุ ซึ่งโดยข้อเท็จจริงนั้นระยะเวลาที่ล่วงเลยทุก 1 ชั่วโมง จะทำให้ค่าแอลกอฮอล์ในเลือดลดลงเฉลี่ย 15-20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ดังนั้น การปฏิเสธการตรวจวัดแอลกอฮอล์ก่อนจึงทำให้ไม่ทราบผลตรวจอย่างแน่ชัดว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์อยู่ในระดับใด แม้พนักงานสอบสวนแจ้งให้ตรวจวัดและมีพยานแวดล้อมต่าง ๆ ที่สามารถเอาผิดได้ก็ตามกระทั่งเมื่อถึงชั้นศาลก็อาจมีโอกาสที่จะถูกยกฟ้องได้ในที่สุด

จากกรณีดังกล่าวข้างต้น กระทรวงคมนาคม จึงเสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 เกี่ยวกับการตรวจวัดแอลกอฮอล์ กรณีที่อาจจะเกิดปัญหาทางกฎหมายในการที่ผู้ขับขี่อยู่ในสภาพที่ไม่พร้อมรับการตรวจวัดแอลกอฮอล์ โดยให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจขอให้แพทย์ตรวจพิสูจน์ผู้ขับขี่หรือบุคคลที่อาจจะเป็นผู้ขับขี่เมื่ออยู่ในภาวะหมดสติหรือได้รับอันตรายจนไม่อาจให้ความยินยอมในการตรวจสอบการมีสารเสพติดหรือวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทหรือทดสอบความเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขจัดช่องว่างในการตรวจวัดแอลกอฮอล์ อันเป็นมูลเหตุสำคัญในการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด โดยต้องมีการจัดระบบการตรวจวัดแอลกอฮอล์และมีมาตรการรวมถึงเครื่องมือสำหรับผู้ปฏิบัติให้ชัดเจน โดยเฉพาะกรณีผู้ขับขี่เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล และปฏิเสธการตรวจวัดแอลกอฮอล์ จะต้องมีเอกสารหลักฐานเพื่อแสดงว่าพนักงานสอบสวนได้แจ้งการตรวจวัดแอลกอฮอล์แก่ผู้ขับขี่แล้วแต่ได้รับการปฏิเสธ โดยต้องแสดงหลักฐานอื่น ๆ แนบประกอบไว้และจะต้องมีขั้นตอนปฏิบัติที่ชัดเจนเพื่อเป็นบรรทัดฐานในการปฏิบัติต่อไป ซึ่งค่าใช้จ่ายในการตรวจพิสูจน์ดังกล่าว ให้สั่งจ่ายจากงบประมาณตามระเบียบที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนด โดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังเพื่อแก้ไขปัญหาการตรวจที่มีความซับซ้อน มีค่าใช้จ่ายที่สูงทำให้เกิดความไม่สะดวกต่อพนักงานสอบสวนที่ต้องเป็นผู้สำรองจ่าย

ดังนั้น คณะรัฐมนตรี โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร และปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... วุฒิสภา ซึ่งขอขยายเวลาการพิจารณาออกไปเป็นกรณีพิเศษอีก 30 วันเนื่องจากมีเนื้อหาสาระสำคัญที่ต้องพิจารณาด้วยความละเอียดรอบคอบ เพื่อให้บทบัญญัติแห่งกฎหมายมีความสมบูรณ์และสามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และในอนาคตเมื่อกฎหมายดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้วจะช่วยให้เกิดความเป็นธรรมในการตรวจวัดแอลกอฮอล์ที่จะต้องบังคับใช้กับทุกฝ่ายโดยไม่เลือกปฏิบัติ

ภาพปก