ล่ามภาษามือ

ผู้เรียบเรียง :
บุษราภรณ์ อัครนิธิยานนท์, บรรณารักษ์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2562-09
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ตามระเบียบคณะกรรมการส่งสริมและพัฒาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติว่าด้วยบริการล่ามภาษามือพ.ศ. 2552 คนพิการทางการได้ยิน หมายความถึง คนพิการที่มีบัตรประจำตัวประเภทความพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย และล่ามภาษามือ หมายความถึง ผู้ซึ่งจดแจ้งเป็นล่ามภาษามือเพื่อปฏิบัติหน้าที่เป็นล่ามภาษามือ ซึ่งได้รับการรับรองคุณสมบัติจากสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ หรือสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ตามระเบียบนี้คนพิการทางการได้ยิน หรือผู้ดูแลคนพิการทางการได้ยินมีสิทธิ์ยื่นคำขอเพื่อขอรับบริการล่ามภาษามือ ในกรณี การใช้บริการทางการแพทย์ การสมัครงาน การร้องทุกข์กล่าวโทษ และการเป็นพยานในชั้นพนักงานสอบสวน เป็นต้น

คุณสมบัติล่ามภาษามือกำหนดไว้ 2 ข้อ คือ 1) มีอายุ 18 ปีขึ้นไป 2) ผ่านการศึกษาหรือฝึกอบรมทางด้านล่ามภาษามือ หรือหากไม่ผ่าน ต้องได้รับการรับรองจากคนหูหนวก 3 คน หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการล่ามรับรอง ซึ่งเป็นองค์กรด้านคนพิการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ สำหรับอัตราค่ตอบแทนการให้บริการล่ามภาษามือไม่ต่ำกว่าชั่วโมงละ 300 บาท และไม่เกินชั่วโมงละ 500 บาท กรณีการเข้าร่วมประชุม สัมมนา หรือฝึกอบรม รวมทั้งเป็นผู้บรรยายซึ่งมีคนพิการทางการได้ยินเข้าร่วมให้จ่ายตามที่ปฏิบัติงานจริง อัตราชั่วโมงละ 600 บาท ให้เบิกจ่ายได้ไม่เกิน 2 คนต่อชั่วโมง และไม่เกิน 6 ชั่วโมงต่อวัน

ปัจจุบันคนพิการทางการได้ยินมีหลายแสนคนในประเทศไทย ขณะที่ล่ามภาษามือทั้งล่ามที่เป็นคนหูดีและล่ามที่เป็นคนหูหนวก มีจำนวนไม่มากนัก และส่วนใหญ่มีงานประจำอยู่แล้ว จึงถือเป็นสาขาอาชีพที่ขาดแคลนแม้จะมีการเปิดสอนหลักสูตรด้านล่ามภาษามือโดยตรงในระดับมหาวิทยาลัย หลักสูตรของสมาคมล่ามภาษามือแห่งประเทศไทย และหลักสูตรการอบรมระยะสั้น ที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษา เพื่อผลิตล่ามภาษามือออกมาแล้วก็ตาม ปัญหานี้เกี่ยวเนื่องและส่งผลต่อการจัดการเรียนการสอนสำหรับคนหูหนวก เนื่องจากต้องมีการสอนภาษามือควบคู่กับการเขียนการอ่านภาษาไทย จากข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวถึงการพัฒนางาน ล่ามภาษามือ อาทิ การผลิตล่ามภาษามือ จัดหลักสูตรล่ามภาษามือทั้งในสถานการณ์ทั่วไป และล่ามเฉพาะทางให้ทุนสำหรับผู้เรียนล่ามภาษามือ และสร้างหลักประกันด้านอาชีพให้แก่ล่ามภาษามือ เช่น การบรรจุทำงานในหน่วยงานภาครัฐ การจัดสวัสดิการ และอัตราเงินตอบแทนล่ามภาษามืออย่างเหมาะสม

การทำหน้าที่ของล่ามภาษามือที่ดีนั้น นอกจากความสามารถทั้ง "ภาษามือไทย" และ "ภาษามือสากล" สำหรับใช้ในโอกาสที่คนหูหนวกจากหลายประเทศมาประชุมร่วมกัน อีกความท้าทายของล่ามภาษามือในฐานะคนกลางในการสื่อสารระหว่างคนปกติกับคนหูหนวกให้เข้าใจสื่อสารกันได้ คือ การถ่ายทอดคำพูด ท่าทีของผู้พูดไปยังผู้พิการทางการได้ยิน เช่น คำศัพท์ วาทกรรมใหม่ สถานการณ์เฉพาะ จึงต้องมีการศึกษาหาข้อมูล ทำความเข้าใจ ติดตามข่าวสารรอบตัว เพื่อสื่อสารออกไปให้ผู้รับสารเห็นภาพและเข้าใจความหมายในบริบทนั้นอย่างแท้จริง เพราะ สิ่งสำคัญคือการทำหน้าที่ในการสื่อสารอย่างเป็นกลางและครบถ้วน ดังนั้น การทำหน้าที่ของล่ามภาษามือให้การสื่อสารมีมุมมองที่กว้างขึ้น เข้าถึงได้ง่ายขึ้น ช่วยส่งเสริมความเสมอภาคเท่เทียมในการเข้าถึงสื่อของทุกคน

นอกจากนี้ หากทุกคนให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ภาษามือให้เหมือนกับการเรียนรู้ในภาษาเกาหลีภาษาญี่ปุ่น หรือภาษาต่างประเทศอื่น ๆ ภาษามือจะช่วยเปิดโลกแห่งการสื่อสารของผู้พิการทางการได้ยิน หรือกระทั่งคนปกติเมื่อการได้ยินถดถอยลง เราสามารถใช้ภาษามือในการสื่อสารแทนได้นั่นเอง

ภาพปก