หนังสือพระราชนิพนธ์ “นายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ”

ผู้เรียบเรียง :
วิจิตรา ประยูรวงษ์, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2563-10
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

“นายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ” เป็นหนังสือพระราชนิพนธ์แปลของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงแปลมาจากหนังสือต้นฉบับภาษาอังกฤษ เรื่อง A Man Called Intrepid (ค.ศ. 1976) ของ วิลเลียม สตีเวนสัน (William Stevenson) ซึ่งเป็นหนังสือที่มีผู้อ่านมากที่สุดเล่มหนึ่งทั้งในยุโรปและอเมริกา พระองค์ทรงแปลหนังสือนี้ในเวลาที่ทรงไม่มีพระราชกรณียกิจ ตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2520 จนถึงวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2523 เป็นระยะเวลาราว 3 ปี โดยทรงใช้เวลาและพระราชวิริยะอุตสาหะแปลถ่ายทอดมาเป็นภาษาไทยเพื่อให้พสกนิกรของพระองค์ได้อ่าน เนื้อหาใจความหลัก ของเรื่องจะเกี่ยวกับ “การทำดีโดยไม่จำเป็นต้องหวังผลตอบแทน” อันเป็นหนึ่งในคำสอนที่ทรงสอนให้ประชาชน ชาวไทยยึดมั่นในการทำดี ดังพระบรมราโชวาทที่พระองค์ได้พระราชทานไว้เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2506 ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า “การปิดทองหลังพระนั้น เมื่อถึงคราวจำเป็น ก็ต้องปิด ว่าที่จริงแล้ว คนโดยมากไม่ค่อยชอบปิดทองหลังพระกันนัก เพราะนึกว่าไม่มีใครเห็น แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้า ไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระจะเป็นพระที่งามบริบูรณ์ไม่ได้”

หนังสือพระราชนิพนธ์ นายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ เป็นหนังสือที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่าง พ.ศ. 2482-2488 ซึ่งมีเรื่องราวค่อนข้างละเอียดซับซ้อน เนื้อหาโดยย่อ เป็นเรื่องจริงเกี่ยวกับนายอินทร์ หรือ Intrepid ซึ่งมีความหมายว่า “ผู้กล้าหาญ” อันเป็นชื่อรหัสของ เซอร์วิลเลียม สตีเฟนสัน (Sir William Stephenson) หัวหน้าข่ายจารกรรมหรือหน่วยราชการลับของอังกฤษ นายอินทร์มีหน้าที่ล้วงความลับทางทหารของเยอรมนีเพื่อรายงานต่อ เซอร์วินสตัน เชอร์ชิล (Sir Winston Churchill) นายกรัฐมนตรีอังกฤษ และแฟรงคลิน ดี รูสเวลส์ (Franklin D. Roosevelt) ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเพื่อร่วมกันต่อต้านการขยายอำนาจของนาซี หรือกองทัพของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ผู้นำเยอรมนี โดยมีนายอินทร์และผู้ร่วมในงานนี้เป็นตัวอย่างของผู้กล้าหาญที่ยอมอุทิศชีวิต เพื่อความถูกต้อง ยุติธรรม เสรีภาพ และสันติภาพ โดยไม่หวังลาภยศสรรเสริญใด ๆ 

หนังสือพระราชนิพนธ์แปล นายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ มีแง่คิดที่น่าสนใจหลายประการแล้วแต่การตีความของผู้อ่าน ในที่นี้ ขอยกข้อคิดที่สำคัญในเรื่อง 2 ประการ ดังนี้

1. การปิดทองหลังพระ เรื่องราวของนายอินทร์ซึ่งมีบทบาทเป็นผู้ปิดทองหลังพระ สะท้อน  ให้เห็นว่า ในสังคมการทำงานไม่ควรทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนตนเพียงอย่างเดียว เพราะองค์พระปฏิมามีการปิดทอง ทั้งด้านหน้าและด้านหลังรอบองค์พระ เพื่อให้องค์พระมีความสมบูรณ์งดงามทั้งองค์ บทบาทการปิดทองหลังพระ จึงต้องควบคู่ไปกับการปิดทองด้านหน้าหรือเป็นสิ่งที่ต้องเกื้อกูลกัน การที่สงครามโลกจบสิ้นและฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นผู้ชนะ เนื่องมาจากการทำงานของบุคคลทั้งที่อยู่แนวหน้าหรือผู้ที่เปิดเผย และบุคคลที่อยู่แนวหลังหรือใต้ดิน ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ปิดทองหลังพระ 

2. คุณธรรมและความดี ความเป็นคนดีมีความหมายกว้าง นอกจากหมายถึงความดีงาม   ตามหลักศีลธรรมและจริยธรรมแล้ว ยังหมายถึงการเป็นคนเก็บตัวไม่โอ้อวด การอดทนรอคอยผลในการทำงาน ความสมถะและความพอเพียง การเสียสละเงินหรือทรัพย์สินส่วนตัวเพื่อนำไปช่วยราชการให้เกิดความคล่องตัว การไม่ลุ่มหลงในกิเลสตัณหา และการไม่เรียกร้องผลจากการทำความดี แม้ไม่มีผู้ใดทราบ แต่ก็มีความอิ่มใจเนื่องจากเป็นงานที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมและประเทศชาติ ซึ่งถือว่าเป็นการทำงานที่เกิดความสำเร็จในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถและเป็นบำเหน็จรางวัลที่ครบถ้วนสมบูรณ์

จากพระราชนิพนธ์แปล นายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระปรีชาสามารถทางด้านอักษรศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง ด้วยเป็นบทพระราชนิพนธ์แปลที่ทรงใช้พระราชวิริยะอุตสาหะในการทรงแปลถ่ายทอดมาเป็นภาษาไทย โดยใช้ภาษาที่เรียบง่าย สละสลวย เพื่อให้คนไทยได้อ่าน และนำข้อคิดที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิต โดยข้อคิดที่สำคัญของเรื่องคือการทำดีโดยไม่จำเป็นต้องหวังผลตอบแทน เฉกเช่นเดียวกับ “นายอินทร์” และผู้ร่วมในงานนี้เป็นตัวอย่างของผู้กล้าหาญที่ยอมอุทิศชีวิตเพื่อความถูกต้อง ยุติธรรม และเพื่อความมีเสรีภาพ และสันติภาพ โดยไม่หวังลาภยศสรรเสริญใด ๆ เปรียบดังกับการปิดทองพระที่ต้องปิดทองทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เพื่อให้องค์พระมีความงดงามบริบูรณ์นั่นเอง 

ภาพปก