คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) กับผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงินและมาตรการป้องกันของประเทศไทย

ผู้เรียบเรียง :
คณาธิป ไกยชน, วิทยากรชำนาญการ กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2565-04
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) คือ หน่วยข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้า บริการ หรือแลกเปลี่ยนกับสินทรัพย์ดิจิทัลอื่น ๆ สามารถใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการที่ผู้ใช้ยอมรับระหว่างกัน โดยคริปโทเคอร์เรนซีเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทหนึ่งที่มีการเข้ารหัสบนระบบ “บล็อกเชน (Blockchain)” ซึ่งมีราคาในการซื้อขายแปรผันตามกลไกตลาดและความต้องการซื้อขาย

การทำธุรกรรมที่ดำเนินการบนระบบ Blockchain มีคุณสมบัติที่ไม่ผ่านตัวกลาง เนื่องจากสามารถดำเนินธุรกรรมระหว่างบุคคลได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านสถาบันการเงินหรือตัวกลางทางการเงินอื่น ๆ และมีความปลอดภัย เนื่องจากการแก้ไขหรือโจรกรรมระบบ (Hack) จะทำได้ยาก เพราะต้องดำเนินการแก้ไขในทุกจุดเชื่อมต่อ (Node) ของเครือข่ายคอมพิวเตอร์พร้อมกัน ทำให้การดำเนินการของระบบมีความน่าเชื่อถือ โดยคริปโทเคอร์เรนซีที่รู้จักกันแพร่หลายในปัจจุบัน ได้แก่ บิทคอยน์ (Bitcoin) และอีเธอร์เรียม (Ethereum) ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้สินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าวได้รับความนิยม เนื่องจากนักลงทุนสามารถใช้เงินลงทุนจำนวนน้อย มีระบบขั้นตอนการซื้อขายที่เข้าใจง่าย ขณะเดียวกันร้านค้าบางแห่งยอมรับให้สามารถนำมาซื้อสินค้าแทนเงินสดได้ 

ปัจจุบันภาคการเงินและสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกันมากขึ้น หากในอนาคตธุรกรรมและบริการที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลมีขนาดใหญ่ขึ้น โดยที่ยังไม่มีการกำกับดูแลที่เหมาะสมอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงินได้ ทั้งนี้ คณะกรรมการดูแลเสถียรภาพทางการเงิน (Financial Stability Board: FSB) ซึ่งเป็นองค์กรที่ติดตามดูแลเสถียรภาพของระบบการเงินของโลกได้เผยแพร่รายงานการประเมินความเสี่ยงของสินทรัพย์ดิจิทัลต่อเสถียรภาพทางการเงิน เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2565 โดยประเมินความเสี่ยงและความเปราะบางของสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่มีสินทรัพย์อื่นหนุนหลัง (Unbacked Crypto-asset) เช่น บิทคอยน์ (Bitcoin) เป็นต้น พบว่า สถาบันการเงินขยายขอบเขตการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับ Unbacked Crypto-asset เพิ่มขึ้น อาทิ การให้บริการซื้อขาย เก็บรักษา และบริหารจัดการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลและสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives) ซึ่งหลายประเทศยังไม่มีการกำกับดูแลการให้บริการดังกล่าว ในอนาคตหากไม่มีการกำกับดูแลที่เหมาะสมอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงินได้ แม้ว่าราคาของ Unbacked Crypto-asset จะมีความผันผวนสูง แต่เนื่องจากตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมีมูลค่าเพียงร้อยละ 1 ของตลาดการเงินโลก และการถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลยังอยู่ในวงจำกัด จึงไม่มีผลกระทบต่อความมั่งคั่งในระดับโลกมากนัก อย่างไรก็ดี ผลกระทบดังกล่าวอาจจะสูงขึ้นในประเทศที่ยอมรับสินทรัพย์ดิจิทัลให้เป็นเงินตราตามกฎหมาย (Legal Tender) เช่น เอลซัลวาดอร์ เป็นต้น นอกจากนี้ ระดับความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลยังไม่สัมพันธ์กับระดับความเชื่อมั่นของตลาดการเงินโดยรวม เนื่องจากที่ผ่านมาเหตุการณ์ที่กระทบต่อความเชื่อมั่นของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลยังไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินในภาพรวม อย่างไรก็ดี หากในอนาคตตลาดการเงินและตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น การปรับตัวของราคาสินทรัพย์ดิจิทัลอาจมีผลกระทบต่อราคาสินทรัพย์อื่น ๆ มากขึ้น จากสถานการณ์ดังกล่าวจึงมีความจำเป็นที่หน่วยงานกำกับดูแลต้องเร่งประเมินผลกระทบและหากจำเป็นอาจต้องมีนโยบายและมาตรการเพื่อป้องกันความเสี่ยง รวมทั้งผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับภาคการเงินในปัจจุบัน (Traditional Financial System)

สำหรับประเทศไทยคริปโทเคอร์เรนซียังไม่มีคุณสมบัติเป็นเงินที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ซึ่งกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกันเพื่อแสดงจุดยืนไม่สนับสนุนให้นำคริปโทเคอร์เรนซีมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ (Means of Payment: MOP) เนื่องจากราคาสินทรัพย์ดิจิทัลมีความผันผวนสูง ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการเก็งกำไร ผู้ทำธุรกรรมจึงมีความเสี่ยงจากการขาดทุนสูง อีกทั้งยังมีความเสี่ยงด้านการถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ ข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหลหรือการถูกใช้เป็นเครื่องมือของการฟอกเงิน เนื่องจากผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลบางรายไม่ได้กำหนดให้ลูกค้าต้องยืนยันตัวตน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อร้านค้า ผู้ประกอบธุรกิจ รวมถึงประชาชนผู้ใช้บริการให้ได้รับความเสียหาย ในอนาคตหากมีการนำคริปโทเคอร์เรนซีมาใช้ชำระค่าสินค้าและบริการในวงกว้างอย่างแพร่หลาย ความเสี่ยงข้างต้นอาจส่งผลต่อเสถียรภาพของระบบการชำระเงิน และเสถียรภาพของระบบการเงินโดยรวมของประเทศในอนาคต รวมทั้งอาจสร้างความเสียหายแก่สาธารณชนทั่วไปได้ 

ทั้งนี้ ในคราวประชุมคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2565 ได้มีมติเห็นชอบหลักการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในการจำกัดการให้บริการเพื่อนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ พร้อมทั้งได้มีประกาศเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล โดยมีสาระสำคัญ คือ 1) ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลทุกประเภทต้องไม่ให้บริการหรือกระทำการอันมีลักษณะเป็นการสนับสนุนหรือส่งเสริมการชำระค่าสินค้าและบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น การโฆษณา การชักชวนหรือแสดงตนว่าพร้อมให้บริการชำระค่าสินค้าหรือบริการแก่ร้านค้า การจัดทำระบบหรือเครื่องมืออำนวยความสะดวกในการชำระค่าสินค้าและบริการ การเปิดกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อวัตถุประสงค์ในการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ เป็นต้น และ 2) กรณีที่มีการใช้บัญชีที่เปิดไว้เพื่อการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไปใช้ประโยชน์ในการชำระค่าสินค้าและบริการ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องแจ้งเตือนผู้ใช้บริการเกี่ยวกับการใช้บัญชีผิดวัตถุประสงค์และไม่ตรงกับเงื่อนไขการให้บริการและดำเนินการกับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการให้บริการ รวมถึงระงับการให้บริการชั่วคราว และยกเลิกการให้บริการหรือดำเนินการอื่นใดในทำนองเดียวกัน ทั้งนี้ มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 และสำหรับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ให้บริการดังกล่าวอยู่ก่อนแล้วจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ

นอกจากนี้ การกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลของประเทศไทยอยู่ภายใต้พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ซึ่งได้กำหนดมาตรการสำหรับกรณีที่มีการดำเนินการเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลอันอาจจะส่งผลต่อเสถียรภาพของระบบการเงินหรือเศรษฐกิจของประเทศ คือ 1) กรณีที่มีการดำเนินการเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลอันอาจก่อให้เกิดผลกระทบหรือความเสียหายอย่างรุนแรงต่อประโยชน์ของประชาชนในวงกว้าง ให้คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีหน้าที่รายงานข้อเท็จจริงและประเมินผลกระทบหรือความเสียหายที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งวิเคราะห์ปัญหาและเสนอแนวทางการดำเนินการต่อรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาโดยเร็ว และ 2) กรณีที่มีการดำเนินการเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลที่อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงินหรือระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ให้รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศห้ามผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลทำธุรกรรมหรือสั่งระงับการดำเนินการที่เกี่ยวข้องได้

ภาพปก