พลังศรัทธา (soft power) เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวภายหลัง APEC 2022

ผู้เรียบเรียง :
ยุทธพงศ์ ปิ่นอนงค์, นิติกรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2566-01
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) กับการสร้างความสามารถในการแข่งขันของรัฐบาลไทยภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีการส่งเสริมให้แต่ละท้องถิ่นเกิดการสร้างสรรค์ผลงานลักษณะพลังศรัทธา (soft power) เพื่อก่อให้เกิดการจ้างงานในแต่ละท้องถิ่นให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น 

ในรอบหลายปีที่ผ่านมาภาครัฐและภาคเอกชนต่างได้มีการส่งเสริมให้แต่ละท้องถิ่นของประเทศไทยมีการเผยแพร่โฆษณามรดกวัฒนธรรม เพื่อให้แต่ละท้องถิ่นเกิดรายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในแต่ละพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะภายหลังจากการเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อให้ภาคประชาชนเกิดการจับจ่ายใช้สอย สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนตามแหล่งมรดกวัฒนธรรมที่ต่าง ๆ

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในสิ่งที่เรียกว่า soft power ในมุมมองของนายกราชบัณฑิตยสภา ซึ่งได้ทำการสรุปคำว่า soft power ไว้ว่า ให้หมายความถึง พลังศรัทธา เป็นการใช้ความนิยมชื่นชอบ เป็นวิถีในการชนะใจหรือโน้มน้าวใจผู้อื่นจนเกิดศรัทธาและปฏิบัติตามโดยพลังศรัทธา 

ดังนั้น จำเป็นต้องสร้างพลังศรัทธา (soft power) ให้เกิดประโยชน์จากแหล่งมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ กอปรกับมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ. 2559 ได้กำหนดไว้ว่า มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ได้รับการส่งเสริมและรักษาต้องมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ 

  1. 1) วรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา 
  2. 2) ศิลปะการแสดง 
  3. 3) แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณี และเทศกาล 
  4. 4) ความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติ และจักรวาล 
  5. 5) งานช่างฝีมือดั้งเดิม 
  6. 6) การเล่นพื้นบ้าน กีฬาพื้นบ้าน และศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว
  7. 7) ลักษณะอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง 

จะเห็นได้ว่า ทั้ง 7 ลักษณะดังกล่าวนั้นมีส่วนสำคัญในการสร้างพลังศรัทธา (soft power) ด้วยเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ซึ่งจะนำไปต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าของชิ้นงานก่อให้เกิดมูลค่าทางพลังศรัทธา ส่งผลทำให้เกิดการกระจายรายได้ให้กับแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมตามภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ

ทั้งนี้ รัฐบาลไทยได้ใช้โอกาสสำคัญในการใช้เวที APEC THAILAND 2022 ระหว่างวันที่ 14-15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 เพื่อแสดงให้เห็นว่าความสำคัญของการใช้พลังศรัทธา (soft power) เพื่อก่อให้เกิดการสร้างรายได้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยในเชิงด้านมรดกภูมิปัญญา โดยกระทรวงวัฒนธรรมและเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ได้ใช้เวทีดังกล่าวเพื่อประชาสัมพันธ์ให้เกิดการค้า การลงทุนและมีการนำเสนอการแสดงทางวัฒนธรรมไทยด้านพลังศรัทธา (soft power) เพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีต่อกัน ซึ่งถือเป็นความสำเร็จที่งดงามเป็นอย่างยิ่ง จากการแสดงตามแนวคิด “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” (Open Connect Balance) โดยมีการบรรเลงบทเพลงจากวงดุริยางค์ของสี่เหล่าทัพ พร้อมวงดนตรีไทยร่วมสมัยของกรมศิลปากร รวมทั้งนักร้องที่มีชื่อเสียงของประเทศไทยหลายท่านร่วมกันขับร้องบทเพลงพระราชนิพนธ์ บทเพลงไทย เพลงสากลและเพลงร่วมสมัย พร้อมกับได้นำเสนอการแสดง 4 ภาคของประเทศไทย ที่นับว่าเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เช่น การฟ้อนร่ม หน้ากากผีตาโขน ฟ้อนภูไท เซิ้ง ถือบั้งไฟ เชิดพญานาค โนราห์ การแสดงโขน ศิลปะ การแสดงชั้นสูงของประเทศทำให้เวทีนี้มีความสง่างาม นอกจากนี้ มีการเชิญชวนให้ผู้นำประเทศหลายประเทศ เข้าร่วมในประเพณีลอยกระทงในแม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้วย ซึ่งสร้างความประทับใจแก่ผู้เข้าร่วมเป็นอย่างยิ่ง 

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าพลังศรัทธา (soft power) ที่รัฐบาลไทยได้อาศัยเวที APEC THAILAND 2022ที่ผ่านมาประสบผลสำเร็จด้วยดี ทำให้เกิดการประชาสัมพันธ์และมีการเผยแพร่การท่องเที่ยวของประเทศไทยผ่านสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ หลากหลายช่องทางในหลาย ๆ ประเทศ ส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวของไทยภายใต้พลังศรัทธา (soft power) ที่รัฐบาลไทยได้นำมาใช้ในเวทีสำคัญดังกล่าว ซึ่งหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้ทุเลาลงไปแล้ว ย่อมส่งผลดีต่อภาคท่องเที่ยวของประเทศไทยที่จะนำเสนอมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมให้กับนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ก่อให้เกิดรายได้แก่ประเทศไทยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รวมทั้งการส่งเสริมด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศได้อย่างยั่งยืน
 

ภาพปก