กรรมาธิการ

กรรมาธิการ

 

กรรมาธิการ หมายถึง บุคคลที่ได้รับแต่งตั้งตามมติที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรหรือที่ประชุมวุฒิสภา หรือที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาให้เป็นกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการ เพื่อทำหน้าที่ตามกิจการที่ได้รับมอบหมายจากที่ประชุมของแต่ละสภา ทั้งนี้ กรรมาธิการจะมาจากบุคคลที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา หรือบุคคลที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาก็ได้ แล้วแต่กรณี

กรรมาธิการที่สภาแต่งตั้งขึ้นประกอบเป็นคณะกรรมาธิการนั้น ทำหน้าที่ตามที่สภามอบหมาย เช่น การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ร่างพระราชบัญญัติ ภายหลังจากที่สภาลงมติรับหลักการ แล้วแต่กรณี รวมทั้งมีหน้าที่และอำนาจกระทำกิจการพิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใด ๆ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภาแล้วรายงานต่อสภา ซึ่งเป็นกลไกที่สำคัญยิ่งในระบบรัฐสภาที่จะทำให้การทำงานของสภามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้ กรรมาธิการยังช่วยแบ่งเบาภาระของสภา เนื่องจากกิจกรรมต่าง ๆ ของสภาได้เพิ่มมากขึ้นและมีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ซึ่งสภาไม่อาจจะพิจารณาได้อย่างละเอียดรอบคอบ จำเป็นจะต้องตั้งคณะกรรมาธิการในการช่วยเหลือพิจารณากลั่นกรองเพื่อให้สภาจะได้วินิจฉัยปัญหาได้อย่างถูกต้องหรือกระทำกิจการต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังประหยัดเวลาให้สภาอีกด้วย รวมทั้งต้องอาศัยความรู้จากผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้น ๆ โดยเฉพาะในการแต่งตั้งบุคคลนั้นประกอบเป็นคณะกรรมาธิการซึ่งจะทำให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและเหมาะสม เพราะปัญหาต่าง ๆ ได้รับการพิจารณาโดยละเอียดรอบคอบอย่างแท้จริงจากผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์ ทั้งได้ประสานงานกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสามารถติดตามผลการบริหารราชการแผ่นดินของฝ่ายบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คณะกรรมาธิการสามารถจำแนกออกได้เป็น 5 ประเภท ดังนี้

1. คณะกรรมาธิการสามัญ ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 90 กำหนดให้มีคณะกรรมาธิการสามัญ จำนวน 35 คณะ ๆ ละจำนวน 15 คน ส่วนข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2562 กำหนดให้มีคณะกรรมาธิการสามัญจำนวน 26 คณะ ๆ ละจำนวนไม่น้อยกว่า 10 คน แต่ไม่เกิน 19 คน ซึ่งกรรมาธิการสามัญจะต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาเท่านั้น มีหน้าที่และอำนาจกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับคณะกรรมาธิการสามัญนั้น

2. คณะกรรมาธิการวิสามัญ เป็นคณะกรรมาธิการที่สภาตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้วรายงานต่อสภา เมื่อดำเนินการเสร็จแล้วให้เป็นอันสิ้นสภาพลง เช่น การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ หรือญัตติต่าง ๆ เป็นต้น ส่วนจำนวนคณะกรรมาธิการนั้นขึ้นอยู่กับที่ประชุมสภากำหนด โดยกรรมาธิการจะตั้งจากบุคคลซึ่งมิได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาด้วยก็ได้

3. คณะกรรมาธิการเต็มสภา ในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาต้องการพิจารณาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพื่อให้เป็นไปโดยรวดเร็ว เช่น การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ เป็นต้น สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา แล้วแต่กรณี ขอให้มีการพิจารณาโดยคณะกรรมาธิการเต็มสภา ให้ถือว่าสมาชิกทุกคนในที่ประชุมประกอบกันเป็นคณะกรรมาธิการ และประธานของที่ประชุมมีฐานะเป็นประธานคณะกรรมาธิการด้วย

4. คณะกรรมาธิการร่วมกัน ในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติในวาระที่สามเห็นชอบด้วยร่างพระราชบัญญัติใดและได้เสนอไปยังวุฒิสภาแล้ว ถ้าวุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติที่ได้เสนอไป หากสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติม ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรดำเนินการให้สภาผู้แทนราษฎรกำหนดจำนวนและตั้งกรรมาธิการร่วมกัน เมื่อสภาผู้แทนราษฎรได้กำหนดจำนวนและตั้งกรรมาธิการร่วมกันแล้ว ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรแจ้งไปยังวุฒิสภาเพื่อให้วุฒิสภาตั้งกรรมาธิการร่วมกัน

5. คณะกรรมาธิการของรัฐสภา ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 63 กำหนดให้การตั้งคณะกรรมาธิการของรัฐสภา กรรมาธิการที่ตั้งจากผู้ที่เป็นสมาชิกของแต่ละสภาจะต้องมีจำนวนตามหรือใกล้เคียงกับอัตราส่วนของจำนวนสมาชิกของแต่ละสภา และกรรมาธิการที่ตั้งจากผู้ที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องมีจำนวนตามหรือใกล้เคียงกับอัตราส่วนของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของแต่ละพรรคการเมืองที่มีอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร ในการสอบหาข้อเท็จจริง คณะกรรมาธิการจะมอบอำนาจหรือมอบหมายให้บุคคลหรือคณะบุคคลใดกระทำการแทนมิได้

กรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรพ้นจากตำแหน่งเมื่อสภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุ หรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ ตาย ลาออก มีการตั้งคณะกรรมาธิการใหม่แทนคณะเดิม สภาผู้แทนราษฎรมีมติให้พ้นจากตำแหน่ง หรือขาดการประชุม 3 ครั้งติดต่อกันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรและไม่ได้แจ้งเป็นหนังสือให้ประธานคณะกรรมาธิการทราบ

กรรมาธิการของวุฒิสภาพ้นจากตำแหน่งเมื่อถึงคราวออกตามอายุของวุฒิสภา ตาย ลาออก สมาชิกภาพสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มีการตั้งคณะกรรมาธิการใหม่แทนคณะเดิม หรือวุฒิสภามีมติให้พ้นจากตำแหน่ง

กรรมาธิการของรัฐสภาพ้นจากตำแหน่งเมื่อสภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุหรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ หรือไม่มีสภาผู้แทนราษฎรเพราะเหตุอื่นใด ตาย ลาออก ขาดจากสมาชิกภาพแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก หรือรัฐสภามีมติให้พ้นจากตำแหน่ง

คำสำคัญ :
กรรมาธิการ
ผู้จัดทำ :
ภุชงค์ สุวรรณมณี, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
แดนชัย ไชวิเศษ, นิติกรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
วันที่เผยแพร่ :