บันทึกการออกเสียงลงคะแนน

บันทึกการออกเสียงลงคะแนน

บันทึกการออกเสียงลงคะแนน หมายถึง การจัดทำบันทึกการออกเสียงในการลงคะแนนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกรัฐสภา โดยให้เลขาธิการของแต่ละสภาจัดทำบันทึกการออกเสียงลงคะแนนของสมาชิกแต่ละคนและให้เปิดเผยบันทึกการออกเสียงลงคะแนนไว้ ณ บริเวณสภาเพื่อให้สมาชิกตรวจดูได้ รวมทั้งทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่น และเพื่อให้ประชาชนทราบได้ทั่วไปด้วย เว้นแต่การออกเสียงลงคะแนนเป็นการลับ ทั้งนี้ สมาชิกมีสิทธิขอแก้ไขเพิ่มเติมบันทึกการออกเสียงลงคะแนนให้ตรงตามที่เป็นจริงได้บันทึกการออกเสียงลงคะแนนได้กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุมแต่ละสภา ดังนี้

ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ในข้อ 11 กำหนดว่า “เลขาธิการมีหน้าที่ดังต่อไปนี้... (4) จัดทำรายงานการประชุมและบันทึกการออกเสียงลงคะแนน”... และข้อ 33 กำหนดว่า “รายงานการประชุม เมื่อคณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎรตรวจแล้ว ก่อนที่จะเสนอให้สภารับรอง ให้ทำสำเนาวางไว้ไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ณ บริเวณสภาเพื่อให้สมาชิกตรวจดูได้ โดยสมาชิกอาจร้องขอตรวจดูทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่นด้วยก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ประธานสภากำหนด และรายงานการประชุมทุกครั้งจะต้องมีรายชื่อสมาชิกที่มาประชุม ที่ลาการประชุม ที่ขาดการประชุมและบันทึกการออกเสียงลงคะแนนแต่ละเรื่อง และสมาชิกมีสิทธิขอแก้ไขเพิ่มเติมรายงานการประชุมดังกล่าวให้ตรงตามที่เป็นจริง โดยยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมต่อประธานคณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร ถ้าคณะกรรมาธิการไม่ยอมแก้ไขเพิ่มเติมให้ตามที่ขอ สมาชิกผู้นั้นมีสิทธิที่จะยืนยันคำขอแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อขอให้สภาวินิจฉัย” และข้อ 89 กำหนดว่า “ให้เลขาธิการจัดทำบันทึกการออกเสียงลงคะแนนของสมาชิกแต่ละคนและเปิดเผยบันทึกดังกล่าวไว้ ณ บริเวณสภา รวมทั้งสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่น เพื่อให้ประชาชนทราบได้ทั่วไป เว้นแต่การออกเสียงลงคะแนนเป็นการลับตามข้อ 84”

ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2562 ในข้อ 28 กำหนดว่า “รายงานการประชุมวุฒิสภา เมื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภาตรวจแล้ว ก่อนที่จะเสนอให้วุฒิสภารับรอง ให้ทำสำเนาวางไว้สามฉบับ ณ ที่ซึ่งสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้ประกาศกำหนดไว้ไม่น้อยกว่าสามวัน เพื่อให้สมาชิกตรวจดูได้ รวมทั้งอาจเสนอให้สมาชิกตรวจดูทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือเทคโนโลยีสารสนเทศอื่นด้วยก็ได้ และรายงานการประชุมวุฒิสภาทุกครั้งจะต้องมีรายชื่อสมาชิกที่มาประชุม ที่ลาประชุม และที่ขาดประชุม บันทึกผลการแสดงตน และบันทึกการออกเสียงลงคะแนนโดยเปิดเผยซึ่งปรากฏรายชื่อสมาชิก และสมาชิกมีสิทธิขอแก้ไขเพิ่มเติมรายงานการประชุมวุฒิสภาดังกล่าวให้ตรงตามที่เป็นจริง โดยยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมต่อประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา ถ้าคณะกรรมาธิการดังกล่าวไม่ยอมแก้ไขเพิ่มเติมให้ตามที่ขอ สมาชิกผู้นั้นมีสิทธิที่จะยืนยันคำขอแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อขอให้วุฒิสภาวินิจฉัย”

ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ในข้อ 7  กำหนดว่า “เลขาธิการรัฐสภามีหน้าที่ ดังต่อไปนี้...(4) จัดทำรายงานการประชุมรัฐสภาและบันทึกการออกเสียงลงคะแนน”... และข้อ 23 กำหนดว่า “รายงานการประชุมรัฐสภา เมื่อเลขาธิการรัฐสภาจัดทำเสร็จแล้ว ให้ลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน ก่อนที่จะเสนอให้รัฐสภารับรอง ให้ทำสำเนาวางไว้ ณ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาไม่น้อยกว่าเจ็ดวันเพื่อให้สมาชิกรัฐสภาตรวจดูได้ รวมทั้งเสนอให้สมาชิกรัฐสภาตรวจดูทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศอื่นด้วย และรายงานการประชุมรัฐสภาทุกครั้งจะต้องมีรายชื่อสมาชิกรัฐสภาที่มาประชุม ที่ลาการประชุม ที่ขาดการประชุม และบันทึกการออกเสียงลงคะแนนแต่ละเรื่อง และสมาชิกรัฐสภามีสิทธิขอแก้ไขเพิ่มเติมรายงานการประชุมรัฐสภาดังกล่าวให้ตรงตามที่เป็นจริง โดยยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมต่อเลขาธิการรัฐสภา ถ้าเลขาธิการรัฐสภาไม่ยอมแก้ไขเพิ่มเติมให้ตามที่ขอ สมาชิกรัฐสภาผู้นั้นมีสิทธิที่จะยืนยันคำขอแก้ไขเพิ่มเติมต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภาวินิจฉัย” และข้อ 62 กำหนดว่า “ให้เลขาธิการรัฐสภาจัดทำบันทึกการออกเสียงลงคะแนนของสมาชิกรัฐสภาแต่ละคนและเปิดเผยบันทึกดังกล่าวไว้ ณ บริเวณรัฐสภา รวมทั้งสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ประชาชนทราบได้ทั่วไป เว้นแต่การออกเสียงลงคะแนนเป็นการลับตามข้อ 57”

คำสำคัญ :
บันทึกการออกเสียงลงคะแนน
ข้อบังคับการประชุม
ผู้จัดทำ :
ภุชงค์ สุวรรณมณี, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
แดนชัย ไชวิเศษ, นิติกรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
วันที่เผยแพร่ :