สมาชิกขอหารือก่อนเข้าระเบียบวาระ หมายถึง การที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภานำปัญหาที่เกี่ยวกับความเดือดร้อนของประชาชนหรือปัญหาอื่นใด เสนอต่อประธานของที่ประชุมสภาด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือ แล้วแต่กรณี ก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมในครั้งนั้น ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ประธานสภากำหนด และให้ประธานสภาส่งเรื่องไปให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงภายใน 30 วัน และแจ้งให้สมาชิกผู้ขอปรึกษาหารือทราบ โดยเป็นดุลพินิจของประธานในที่ประชุมสภาจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ปรึกษาหารือก็ได้
ในอดีตการที่สมาชิกขอหารือก่อนเข้าระเบียบวาระ ไม่ได้มีการกำหนดแนวทางปฏิบัติไว้อย่างชัดเจนในข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เป็นเพียงดุลพินิจของประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือประธานของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่จะอนุญาตให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้นำประเด็นปัญหาที่เกี่ยวกับความเดือดร้อนของประชาชนหรือปัญหาอื่นใดมาปรึกษาหารือต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร แต่การปรึกษาหารือปัญหาดังกล่าวบางส่วนอาจไม่ได้นำไปสู่การแก้ไขปัญหาตามความประสงค์ของสมาชิก ผู้ขอปรึกษาหารืออย่างเป็นรูปธรรม จึงได้เริ่มมีการบัญญัติเรื่องสมาชิกขอหารือก่อนเข้าระเบียบวาระไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 ไว้ในข้อ 17 โดยกำหนดให้เป็นอำนาจของประธานสภาผู้แทนราษฎรที่อาจอนุญาตให้สมาชิกปรึกษาหารือปัญหาที่เกี่ยวกับความเดือดร้อนของประชาชนหรือปัญหาอื่นใดได้ ในช่วงก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรกำหนด และให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งเรื่องดังกล่าวให้รัฐมนตรีหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องชี้แจงภายใน 30 วัน และแจ้งให้สมาชิกทราบ เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้มีโอกาสทำหน้าที่ในการสะท้อนปัญหาของประชาชนได้มากขึ้น โดยผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อส่งเรื่องไปยังฝ่ายบริหาร ซึ่งหากอาศัยเฉพาะกระบวนการยื่นญัตติหรือการยื่นกระทู้ถามที่มีเป็นจำนวนมากอาจทำให้ไม่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนได้อย่างทันท่วงที
ปัจจุบันได้มีการกำหนดเรื่องสมาชิกขอหารือก่อนเข้าระเบียบวาระไว้ในข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 24 ซึ่งกำหนดว่า “ก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม ประธานอาจอนุญาตให้สมาชิกปรึกษาหารือปัญหาที่เกี่ยวกับความเดือดร้อนของประชาชนหรือปัญหาอื่นใดได้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ประธานสภากำหนด และให้ประธานสภาส่งเรื่องดังกล่าวให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องชี้แจงภายในสามสิบวัน และแจ้งให้สมาชิกทราบ”
ส่วนการขอปรึกษาหารือของสมาชิกวุฒิสภาก่อนเข้าระเบียบวาระ ได้มีการกำหนดไว้เป็นครั้งแรกในข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2562 ในข้อ 18 ซึ่งกำหนดว่า “ก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม ประธานของที่ประชุมอาจอนุญาตให้สมาชิกปรึกษาหารือปัญหาที่เกี่ยวกับความเดือดร้อนของประชาชนหรือปัญหาอื่นใดได้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ประธานวุฒิสภากำหนด และหากเห็นสมควร ให้ประธานวุฒิสภาส่งเรื่องดังกล่าวให้รัฐมนตรีหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อชี้แจงเป็นหนังสือภายในสามสิบวัน และแจ้งให้สมาชิกผู้ที่เกี่ยวข้องทราบและอาจแจ้งให้สมาชิกอื่นทราบทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์หรือเทคโนโลยีสารสนเทศอื่นด้วยก็ได้”
สำหรับการกำหนดเวลาและจำนวนสมาชิกผู้ขอปรึกษาหารือในส่วนของสภาผู้แทนราษฎรนั้น กำหนดให้สมาชิกผู้ประสงค์จะขอปรึกษาหารือให้แจ้งความประสงค์ล่วงหน้า โดยระบุชื่อ สกุล พรรคที่สังกัด เรื่องที่จะขอปรึกษาหารือ และหน่วยงานที่รับผิดชอบ ต่อคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร หรือคณะกรรมการประสานงานพรรคการเมืองฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ตามฝ่ายที่ตนสังกัด กรณีมีเอกสารประกอบการหารือให้ส่งมอบในคราวเดียวกันและให้คณะกรรมการดังกล่าว เสนอชื่อสมาชิกผู้ประสงค์จะขอปรึกษาหารือต่อประธานก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม โดยในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งหนึ่ง ๆ ให้เป็นอำนาจของประธานในการกำหนดจำนวนสมาชิกและระยะเวลาการขอปรึกษาหารือ
สำหรับวุฒิสภานั้น กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภาผู้ประสงค์จะขอปรึกษาหารือแจ้งความประสงค์ต่อประธานล่วงหน้าพร้อมแนบแบบแจ้งความประสงค์ขอปรึกษาหารือ ณ จุดรับแจ้งความประสงค์ขอปรึกษาหารือของสมาชิกวุฒิสภา ตั้งแต่เวลา 08.30 นาฬิกา จนครบจำนวน 15 คน หรือเมื่อถึงเวลา 09.00 นาฬิกา ให้มีการปรึกษาหารือของสมาชิกวุฒิสภาก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมวุฒิสภา ในการประชุมวุฒิสภาตามวันที่ประธานวุฒิสภากำหนด ระหว่างเวลา 09.15-10.00 นาฬิกา โดยขอปรึกษาหารือได้ไม่เกิน 15 คน คนละไม่เกิน 3 นาที ในกรณีที่ประธานเห็นว่ามีระเบียบวาระการประชุมเป็นจำนวนมากหรือมีเหตุจำเป็นอื่นอาจไม่อนุญาตให้มีการปรึกษาหารือ หรือกำหนดจำนวนสมาชิกและเวลาในการปรึกษาหารือเป็นอย่างอื่นก็ได้
สงวนลิขสิทธิ์ © 2565 หอสมุดรัฐสภา
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
เลขที่ 1111 ถนนสามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300
โทรศัพท์ : +66(0) 2242 5900 ต่อ 5714, 5715, 5721-22 โทรสาร : +66(0) 2242 5990
อีเมล : library@parliament.go.th