การเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนตามพระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2564

ผู้เรียบเรียง :
คณาธิป ไกยชน, วิทยากรปฏิบัติการ กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2564-12
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

การเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนเป็นการแสดงออกซึ่งสิทธิ เสรีภาพ และการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชน โดยสะท้อนถึงเจตจำนงและความต้องการของประชาชนเพื่อแก้ไขปัญหาหรือบรรเทาความเดือนร้อนในเรื่องต่าง ๆ ผ่านกระบวนการนิติบัญญัติ ซึ่งการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนถือเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ อย่างไรก็ดี การเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนได้มีการบัญญัติไว้ครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 170 ซึ่งกำหนดให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 50,000 คน มีสิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมาย โดยกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และกระบวนการเข้าชื่อเสนอกฎหมายไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2542

ต่อมารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 163 ได้ลดจำนวนผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายลงเหลือไม่น้อยกว่า 10,000 คน พร้อมทั้งมีการแก้ไขเพิ่มเติมและประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2556 โดยกำหนดวิธีการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย การตรวจสอบ การประกาศ และการร้องคัดค้าน เพื่อให้การเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนสามารถกระทำได้ง่ายขึ้นและเกิดผลได้จริงในทางปฏิบัติ และปัจจุบันรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 133 (3) ได้กำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10,000 คน เข้าชื่อเสนอกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับหมวด 3 สิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หรือหมวด 5 หน้าที่ของรัฐตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้งมาตรา 256 (1) กำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 คน เข้าชื่อเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตลอดจนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย มาตรา 258 ค. (4) ที่มุ่งหวังให้เกิดกลไกช่วยเหลือประชาชนในการจัดทำและเสนอร่างกฎหมาย ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และประกาศใช้พระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2564 เพื่อเป็นกลไกช่วยเหลือประชาชนในการจัดทำและเสนอร่างกฎหมายที่มีประสิทธิภาพต่อไป

พระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2564 ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเข้าชื่อเสนอกฎหมายสรุปได้ ดังนี้ 
    
1. คุณสมบัติและหลักเกณฑ์การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ผู้มีสิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมายต้องเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งอยู่ในวันที่เสนอร่างกฎหมายและมิได้เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งกรณีการเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติ จะต้องเป็นร่างกฎหมายที่มีหลักการเกี่ยวกับหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หรือหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเท่านั้น โดยมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งร่วมเข้าชื่อจำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 คน และในกรณีเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมจะต้องเป็นร่างกฎหมายที่ไม่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่มีผลการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ โดยต้องมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งร่วมเข้าชื่อจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 คน ทั้งนี้ ในการจัดทำร่างกฎหมายนั้น ผู้มีสิทธิเลือกตั้งอาจจัดทำร่างกฎหมายเอง หรืออาจร้องขอต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจัดทำร่างกฎหมายให้ก็ได้
    
2. การวินิจฉัยร่างกฎหมายและการเชิญชวนประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมาย กรณีเสนอร่างพระราชบัญญัติ ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 20 คน หรือกรณีเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 120 คน เสนอร่างกฎหมายและเอกสารประกอบที่เกี่ยวข้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี เพื่อพิจารณาวินิจฉัยร่างกฎหมาย หากร่างกฎหมายนั้นไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดให้แจ้งผู้เสนอร่างกฎหมายเป็นหนังสือและส่งคืนเรื่อง แต่ถ้าร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดให้แจ้งผู้เสนอร่างกฎหมายนั้นดำเนินการเชิญชวนให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนอื่นร่วมเข้าชื่อเสนอกฎหมายต่อไป
    
3. การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ได้จำแนกผู้รับและรวบรวมหลักฐานการเข้าชื่อเสนอกฎหมายออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มผู้เชิญชวนหรือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เสนอร่างกฎหมาย และ 2) สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้รับการร้องขอจากคณะผู้เชิญชวนให้เป็นผู้รับและรวบรวม โดยมีกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ได้รับคำร้อง ทั้งนี้ การเชิญชวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ร่วมเข้าชื่อเสนอกฎหมาย จะกระทำเป็นหนังสือหรือกระทำผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ แต่ต้องดำเนินการให้ประชาชนผู้ที่จะร่วมเข้าชื่อเสนอกฎหมายสามารถเข้าถึงร่างกฎหมายและเอกสารประกอบที่เกี่ยวข้องด้วย และในส่วนของรูปแบบการเข้าชื่อเสนอกฎหมายนั้นได้กำหนดให้มีเอกสารหลักฐานการแสดงชื่อ ชื่อสกุล เลขประจำตัวประชาชนของผู้ร่วมเข้าชื่อ และข้อความที่แสดงให้เห็นว่าตนสมัครใจเข้าร่วมในการเสนอร่างกฎหมาย พร้อมทั้งลงลายมือชื่อ และส่งไปยังสถานที่หรือผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้เชิญชวนกำหนดไว้ นอกจากนี้ ในกรณีสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้รับการร้องขอให้เป็นผู้รับและรวบรวม อาจจัดให้มีการเข้าชื่อเสนอกฎหมายทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีระบบการยืนยันตัวตนและตรวจสอบความเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ โดยไม่ต้องลงลายมือชื่อ ทั้งนี้ เมื่อได้ดำเนินการเข้าชื่อเสนอกฎหมายครบถ้วนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนดแล้วให้ผู้เชิญชวนอย่างน้อย 1 คน ทำหนังสือนำส่งร่างกฎหมายต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี พร้อมทั้งเสนอเอกสารประกอบการเสนอร่างกฎหมาย และหลักฐานการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย รวมทั้งรายชื่อผู้แทนของผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมาย เมื่อมีการตรวจสอบร่างกฎหมายและหลักฐานเกี่ยวกับการเข้าชื่อเสนอกฎหมายแล้ว หากเอกสารหลักฐานไม่ถูกต้องครบถ้วนก็จะแจ้งผู้เสนอดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด หากเอกสารหลักฐานถูกต้องครบถ้วนก็จะนำเข้าสู่กระบวนการตรากฎหมายตามขั้นตอนต่อไป 
    
กล่าวโดยสรุป การเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนตามพระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2564 ถือเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญและมีกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติที่เป็นกลไกในการช่วยเหลือประชาชนในการจัดทำและเสนอร่างกฎหมายที่มีประสิทธิภาพผ่านช่องทางต่าง ๆ ที่ทันสมัย ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร "https://web.parliament.go.th/view/5/การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย/TH-TH" เพื่อเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองผ่านกลไกดังกล่าวต่อไป
 

ภาพปก