การสอบสวนในคดีอาญา

ผู้เรียบเรียง :
ศรันยา สีมา, นิติกรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2564-01
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

“การสอบสวน” หมายถึง การรวบรวมพยานหลักฐานและการดำเนินการทั้งหลายอื่นตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนด ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ทำไปเกี่ยวกับความผิดที่กล่าวหา เช่น การควบคุมตัวผู้ถูกกล่าวหา การพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราว เพื่อที่จะทราบข้อเท็จจริงหรือพิสูจน์ความผิดและเพื่อจะเอาตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องลงโทษ 

การสอบสวนในคดีอาญาแยกออกได้เป็น 2 ลักษณะคือ การสอบสวนในคดีความผิดอาญาแผ่นดิน ซึ่งเป็นความผิดที่กระทบต่อความสงบสุขของสังคมโดยรวม เช่น ความผิดฐานลักทรัพย์ หรือฉ้อโกงประชาชน พนักงานสอบสวนสามารถทำการสอบสวนได้ ตั้งแต่เมื่อทราบว่ามีการกระทำความผิดดังกล่าวเกิดขึ้น โดยไม่ต้องมีการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษ แต่หากเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัวหรือความผิดอันยอมความได้ เช่น ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ หรือทำให้เสียทรัพย์แล้ว พนักงานสอบสวนจะทำการสอบสวนได้ก็ต่อเมื่อมีคำร้องทุกข์จากผู้เสียหายตามกฎหมายเสียก่อน

โดยที่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศไทยในปัจจุบันใช้ระบบกล่าวหา อีกทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติให้ความคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญาไว้ โดยให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าผู้นั้นกระทำความผิด ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องทำการพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้ปราศจากข้อสงสัยว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยกระทำความผิดอาญาจริงตามที่ถูกกล่าวหา ทั้งนี้ เนื่องจากผลของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาอาจทำให้ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดนั้น ถูกลงโทษจำคุกหรือประหารชีวิต ซึ่งเป็นการกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ถูกกล่าวหาอย่างร้ายแรง การสอบสวนซึ่งกระทำโดยพนักงานสอบสวนในเบื้องต้น จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการรวบรวมพยานหลักฐานทั้งปวงและกลั่นกรองข้อเท็จจริงอย่างรอบคอบ เพื่อพิจารณาว่าข้อกล่าวหานั้นมีมูลหรือไม่เพียงใด ก่อนเสนอพนักงานอัยการยื่นฟ้องผู้ถูกกล่าวหานั้นต่อศาลเพื่อพิจารณาคดีต่อไป

ในการสอบสวนพนักงานสอบสวนจะต้องดำเนินการสอบสวนตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายกำหนด มิฉะนั้น การสอบสวนจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่งผลให้การฟ้องคดีและการพิจารณาคดีในชั้นศาลเสียไปได้ เนื่องจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดห้ามไม่ให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาลโดยไม่ได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน การสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงมีผลเท่ากับว่าไม่เคยมีการสอบสวน ทำให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจยื่นฟ้องคดี และหากคดีขึ้นสู่การพิจารณาคดีของศาลแล้ว ศาลต้องมีคำพิพากษายกฟ้อง

การสอบสวนในคดีอาญาจึงมีความสำคัญเนื่องจากเป็นต้นธารของกระบวนการยุติธรรม เป็นกลไกของรัฐที่ใช้ในการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม และเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกกล่าวหา จำเลยและผู้เสียหาย ดังนั้น พนักงานสอบสวนจึงต้องทำการสอบสวนและรวมรวบพยานหลักฐานทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับคดีทั้งที่เป็นคุณและเป็นโทษแก่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยด้วยความสุจริต เที่ยงธรรม ซึ่งจะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดีได้รับความยุติธรรมด้วยกันทุกฝ่าย และสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมให้กับประชาชน

ภาพปก