ภัยอาชญากรรมแก๊งคอลเซ็นเตอร์

ผู้เรียบเรียง :
อาริยา สุขโต,วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2565-07
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ภัยการหลอกลวงทางโทรศัพท์ มิจฉาชีพคอลเซ็นเตอร์ หรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ (Call Center) เป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศรูปแบบหนึ่งในยุคดิจิทัล ซึ่งนอกจากจะก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อเหยื่อจำนวนมากแล้ว ยังก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจในภาพรวมระดับประเทศอีกด้วย ภัยคอลเซ็นเตอร์ถือได้ว่าเป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจข้ามชาติที่เป็นภัยร้ายแรงและเฝ้าระวังในช่วงปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันซึ่งเป็นยุคข้อมูลข่าวสารที่การติดต่อในรูปแบบดิจิทัลมีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามรายงานจากศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ เปิดเผยว่า ประเทศไทยพบการใช้โทรศัพท์เพื่อหลอกลวงมากกว่า 6.4 ล้านครั้ง โดยเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 270 จากปี 2563 และในไทยพบการส่งข้อความขนาดสั้นหรือเอสเอ็มเอส (SMS) หลอกลวงเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 57 และในปี 2564 ที่ผ่านมา มีผู้เสียหายเข้าแจ้งความกับกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) กว่า 1,600 คน มูลค่าความเสียหายสูงกว่า 1,000 ล้านบาท นับแต่เดือนมกราคมถึง 15 กุมภาพันธ์ 2565 เข้าแจ้งความแล้ว 129 คดี สถิติทางคดีดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงแก๊งคอลเซ็นเตอร์ยังคงระบาดอย่างต่อเนื่อง สำหรับมูลเหตุจูงใจการกระทำผิด คือ รายได้ที่ได้รับจากการก่อเหตุมีมูลค่าเป็นจำนวนมหาศาล ในขณะที่บทลงโทษตามกฎหมายไม่มีความรุนแรง

แก๊งคอลเซ็นเตอร์เป็นกลุ่มมิจฉาชีพที่มีรูปแบบการทำงานเป็นขบวนการ มีการแบ่งหน้าที่ชัดเจนโดยการใช้ช่องทางความตื่นกลัว ความโลภ และการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับเหยื่อหรือผู้เสียหาย เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไต้หวัน ในครั้งแรกนั้นไม่ได้ใช้คำว่าคอลเซ็นเตอร์ แต่ใช้คำว่า เอทีเอ็มเกม (ATM Game) เนื่องจากเป็นการสร้างกลโกงโดยการแอบอ้างแสดงตนเป็นผู้อื่น เพื่อหลอกลวงให้เหยื่อหลงเชื่อทางโทรศัพท์แล้วให้เหยื่อไปที่ตู้เอทีเอ็มและให้ทำการโอนเงินแก่คนร้าย โดยมีรูปแบบที่ใช้ในการหลอกลวงผู้เสียหายหรือเหยื่อใน 2 ลักษณะ คือ การหลอกลวงด้วยความโลภ เช่น การหลอกลวงผู้เสียหายว่าได้รับคืนภาษี ได้รับเงินจากการถูกรางวัล หรือได้รับเช็คคืนภาษี โดยอ้างว่าต้องจ่ายค่าบริการเบื้องต้นเพื่อเป็นค่าบริการและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อเพราะความโลภอยากได้เงินหรือทรัพย์สิน ก็จะโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของคนร้ายที่ได้เตรียมเปิดรองรับไว้ อีกรูปแบบ คือ การหลอกลวงด้วยความกลัว โดยหลอกลวงผู้เสียหายว่าเป็นหนี้ค่าโทรศัพท์ หนี้บัตรธนาคาร มีบัญชีธนาคารพัวพันกับยาเสพติด บัญชีธนาคารจะต้องถูกอายัดและถูกตรวจสอบโดยสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อจะทำธุรกรรมทางการเงินตามที่กลุ่มคนร้ายแจ้ง ซึ่งในปัจจุบันส่วนใหญ่ลักษณะการหลอกลวงจะใช้วิธีทำให้ผู้เสียหายเกิดความกลัว

ผลกระทบของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่เป็นภัยคุกคามต่อประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยมีผลกระทบทั้งต่อเศรษฐกิจระดับจุลภาค คือ เหยื่อผู้ได้รับผลกระทบจากการหลอกลวงและผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศสูญเงินเป็นจำนวนมูลค่ามหาศาล ผลกระทบทางสังคม เมื่อเหยื่อที่ได้รับผลกระทบจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์มักจะประสบกับความเครียด โดยเหยื่อบางรายคิดสั้นฆ่าตัวตาย สูญเงิน มีภาวะหนี้สิน จนนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตตามมา นอกจากนั้น ยังส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศอีกด้วย

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) มีมาตรการในการแก้ไขปัญหาโดยให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหา ประสานกับบริษัทเครือข่ายมือถือเพื่อหาวิธีเตือนผู้ใช้โทรศัพท์ให้ระวังการตกเป็นเหยื่อของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยหากเป็นเลขหมายที่โทรมาจากต่างประเทศ หรือโทรผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ทางค่ายมือถือจะขึ้นเป็นเครื่องหมายบวก บนหมายเลขโทรศัพท์เพื่อแจ้งเตือนผู้รับสายให้ระมัดระวังว่าอาจเป็นมิจฉาชีพ ในส่วนของสำนักงาน กสทช. มีการดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยการระงับสายการโทรเข้าจากต่างประเทศที่มีรูปแบบของหมายเลขโทรเข้าเป็นรหัสโทรศัพท์ประจำประเทศ และตรวจสอบสายโทรเข้ามาจากต่างประเทศที่ผิดกฎหมาย กรณีสายโทรเข้ามาจากต่างประเทศที่ไม่ได้มีการกำหนดเลขหมายต้นทาง ให้เพิ่มเครื่องหมาย +66 นำหน้าหมายเลขโทรศัพท์ เพื่อให้ประชาชนทราบว่าเป็นการโทรเข้ามาจากต่างประเทศ ให้เกิดความระมัดระวังในเบื้องต้น ปัจจุบันได้มีการดำเนินการปราบปรามกวาดล้างแก๊งคอลเซ็นเตอร์อย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการปรับเปลี่ยนรูปแบบการก่อเหตุของมิจฉาชีพ ดังนั้น ในส่วนของประชาชนต้องมีการสร้างความตระหนักรู้ต่อปัญหาร่วมกัน มีสติและคอยติดตามข่าวสารด้านอาชญากรรมในยุคดิจิทัลเพื่อป้องกันตัวเองในการตกเป็นเหยื่อและประสานความร่วมมือกันทั้งภาครัฐ เอกชน และประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งการปรับปรุงกฎหมายให้มีบทลงโทษที่หนักกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ภาพปก