Sensor for All นวัตกรรมในการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน

ผู้เรียบเรียง :
ณิชชา บูรณสิงห์, วิทยากรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานบริการวิชาการ 3 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2565-10
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) กลายเป็นปัญหาหลักที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน เนื่องจากสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินมาตรฐานในช่วงต้นปีของทุกปี ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงในหลายจังหวัด พบว่า ค่าฝุ่น PM2.5 สูงเกินค่ามาตรฐานในช่วงระยะเวลาหนึ่งเป็นประจำทุกปี ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิตของประชาชนทุกกลุ่ม รวมถึงมีความเสี่ยงทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจ โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด และมะเร็งปอด โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยงทั้งเด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว ทั้งนี้ ฝุ่น PM2.5 มักเกิดในพื้นที่การจราจรและยานพาหนะที่หนาแน่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงดีเซล โรงงานอุตสาหกรรม และการเผาในที่โล่ง ดังนั้น การพัฒนาเครื่องมือเพื่อเตือนให้ประชาชนเฝ้าระวังฝุ่น PM2.5 จึงเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในปัจจุบัน

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงจัดทำโครงการ Sensor for All เพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เกิดจากพฤติกรรมและกิจวัตรประจำวันของประชาชน โดยเริ่มดำเนินโครงการเมื่อ พ.ศ. 2561-2565 ดังนี้

ระยะที่ 1 พ.ศ. 2561 มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจวัดสภาพอากาศและจัดเก็บข้อมูลของฝุ่นละออง โดยเริ่มจากการพัฒนาเซนเซอร์ตรวจวัดฝุ่น PM2.5 และทดลองติดตั้งในพื้นที่รอบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ระยะที่ 2 พ.ศ. 2562-2565 พัฒนาระบบการส่งและแสดงผลข้อมูล รวมทั้งขยายการตรวจวัดปริมาณฝุ่นให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ โดยร่วมมือกับภาคีเครือข่าย เช่น การเคหะแห่งชาติและ True Corporation รวมถึงมีการเผยแพร่องค์ความรู้ โดยจัดทำเป็น Pocketbook “ยุทธการดับฝุ่น” เพื่อปลูกฝังความรู้เรื่องฝุ่นให้กับเยาวชน

ระยะที่ 3 พ.ศ. 2563-2564 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การเคหะแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ร่วมมือกันขยายเครือข่ายเซนเซอร์ตรวจวัดฝุ่น PM2.5 โดยตั้งเป้าขยายให้ได้มากกว่า 1,000 จุด ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ และเผยแพร่ข้อมูลคุณภาพอากาศทาง http://sensorforall.eng.chula.ac.th/ อีกทั้งรายงานสถานการณ์พร้อมให้ความรู้เรื่องฝุ่น PM2.5 เป็นประจำทุกวันทาง Facebook : Sensor for All และมีการต่อยอดโดยพัฒนาแอปพลิเคชัน Sensor For All บนสมาร์ทโฟน นอกจากนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ติดตั้งเซนเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศ จำนวน 500 จุดทั่วประเทศ และมีการเชื่อมโยงข้อมูลคุณภาพอากาศร่วมกับกรมควบคุมมลพิษในแอปพลิเคชัน Air4Thai และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในแอปพลิเคชัน Dustboy ทำให้มีข้อมูลแสดงผลใน Sensor for All รวมกว่า 1,200 จุด ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อเป็นตัวช่วยเฝ้าระวังและวางแผนการใช้ชีวิตประจำวัน สนับสนุนการจัดการปัญหาฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศเชิงรุก เพื่อสร้างอากาศที่ดีแก่คนไทยต่อไป

ระยะที่ 4 พ.ศ. 2564-2565 กระทรวงพลังงาน สำนักงานพลังงานจังหวัดทั่วประเทศ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เปิดตัวการใช้งาน Sensor for All แสดงผลข้อมูลคุณภาพอากาศแบบ Real Time สนับสนุนการจัดการปัญหาฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศแบบเชิงรุก

ทั้งนี้ Sensor for All เป็นอุปกรณ์สำคัญในการนำข้อมูลคุณภาพอากาศมาปรับใช้ในการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน ชุมชน และสนับสนุนการใช้ประโยชน์แก่หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งด้านการบริการ ด้านการท่องเที่ยว และด้านสาธารณสุข โดยข้อมูลคุณภาพอากาศจากเซนเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศที่ติดตั้ง และเชื่อมโยงเครือข่ายทั่วประเทศ ทำให้ประชาชนสามารถใช้ในการเฝ้าระวังและวางแผนการใช้ชีวิตประจำวัน สามารถประยุกต์ใช้ประโยชน์ในด้านสาธารณสุขเพื่อการติดตามเฝ้าระวังอาการคนกลุ่มเสี่ยงด้านทางเดินหายใจ พร้อมทั้งส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

โครงการ Sensor for All เครื่องตรวจวัดสภาพอากาศเพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 จึงเป็นนวัตกรรมตรวจวัดสภาพอากาศเพื่อนำร่องสู่การแก้ปัญหาฝุ่นอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ทุกภาคส่วนยังคงต้องร่วมมือกันหามาตรการและแนวทางแก้ไข เช่น ควรมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับรถยนต์ที่ปล่อยควันดำ และส่งเสริมให้ประชาชนใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าให้มากขึ้น รวมถึงมีการควบคุมพื้นที่ก่อสร้างในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างเคร่งครัด เพื่อลดปริมาณฝุ่น PM2.5 ซึ่งปัญหาหลักที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

ภาพปก