คณะครูและนักเรียนโรงเรียนอุดมดรุณี โครงการห้องเรียนพิเศษนิติศาสตร์ - รัฐศาสตร์ (LPSP) ประจำปีการศึกษา 2565 ในโอกาสศึกษาดูงานและเยี่ยมชมรัฐสภา

Event type
Library Visit
Unit
Information Technology Resources Development Division
Start date
End date
Venue
ณ ห้องจัดเลี้ยง 110 (ฝั่งริมแม่น้ำ) F1 อาคารรัฐสภา

เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ให้การต้อนรับคณะครูและนักเรียนโรงเรียนอุดมดรุณี โครงการห้องเรียนพิเศษนิติศาสตร์ - รัฐศาสตร์ (LPSP) ประจำปีการศึกษา 2565 ในโอกาสศึกษาดูงานและเยี่ยมชมรัฐสภา วันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม 2566 เวลา 10.00 นาฬิกา ณ ห้องจัดเลี้ยง 110 (ฝั่งริมแม่น้ำ) F1 อาคารรัฐสภา นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ให้การต้อนรับคณะครูและนักเรียนโรงเรียนอุดมดรุณี โครงการห้องเรียนพิเศษนิติศาสตร์ - รัฐศาสตร์ (LPSP) ประจำปีการศึกษา 2565 ในโอกาสศึกษาดูงานและเยี่ยมชมรัฐสภา โดยเฉพาะการประชุมสภาผู้แทนราษฎร และคลังสารสนเทศของสถาบันนิติบัญญัติของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่ผ่านการรับรองว่าเป็นคลังสารสนเทศที่เชื่อถือได้ตามมาตรฐานสากล CoreTrustSeal ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยเป็นคลังสารสนเทศดิจิทัลแห่งแรกในประเทศไทย เป็นแห่งที่ 3 ของเอเชีย และเป็นลำดับที่ 126 ของโลก เพื่อเปิดโลกทัศน์ให้คณะครูและนักเรียนได้รับความรู้และประสบการณ์ตรงในการศึกษาด้านนิติศาสตร์ - รัฐศาสตร์ จากสถานที่จริง รวมทั้งเสริมสร้างศักยภาพของนักเรียนในโครงการห้องเรียนพิเศษนิติศาสตร์ - รัฐศาสตร์ (LPSP) ให้ได้ฝึกปฏิบัติการตามกระบวนการของผู้นำจากแหล่งเรียนรู้นอกสถานที่ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิดประโยชน์ด้านการเรียนและพัฒนาทักษะกระบวนการทางสังคมของนักเรียน โดยมี นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสุโขทัย พรรคพลังประชารัฐ ร่วมรับฟัง

ทั้งนี้ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้กล่าวให้โอวาทกับคณะครูและนักเรียน ในฐานะบุคคลต้นแบบด้านวินัยรับผิดชอบเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาการเรียนรู้ของคณะ และบรรยายพิเศษเรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้รับรางวัลคุณธรรมอวอร์ด ปี 2564 ประเภทบุคคล ด้านวินัยรับผิดชอบ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม 2565 จากศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ในงานสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 12 ณ กระทรวงวัฒนธรรม โดยได้กล่าวต้อนรับคณะครูและนักเรียนด้วยความยินดีเป็นอย่างยิ่งเพราะถือว่าเราได้รับเกียรติจากยุวชนที่จะเป็นกำลังของชาติมาศึกษาดูงานและเยี่ยมชมรัฐสภา และได้เล่าถึงชีวิตในวัยเด็ก วัยเรียน ที่ได้มีความมุ่งมั่นตั้งใจศึกษาเล่าเรียนและทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด พร้อมทั้งได้เล่าประสบการณ์ทำงานที่ได้เคยทำงานเป็นครูผู้ช่วยที่ จังหวัดสุโขทัย เป็นเวลา 6 เดือน ก่อนเข้ามาทำงานที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่สมัยที่เข้ามาทำงานใหม่ ๆ และมีคติประจำตัวคือทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด นี่คือวิถีที่สร้างตนเองจนกระทั่งเติบโตมาถึงทุกวันนี้ รวมทั้งวิถีการใช้ชีวิตที่พอเพียง และในระหว่างที่ทำงานตั้งแต่เป็นข้าราชการตัวเล็ก ๆ ตนได้รับความชื่นชมจากผู้ที่ได้ร่วมงานด้วยโดยตนเป็นผู้นำสร้างนวัตกรรม เริ่มเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ สร้างกระบวนความคิด การเปลี่ยนแปลงงานในทุกหน่วยที่ตนได้เข้าไปร่วมงาน ซึ่งการประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานของตนนั่นเป็นผลมาจากการรู้หน้าที่ของตนเอง ทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด ใช้วิถีชีวิตอย่างพอเพียง รู้หลักการครองตน ครองคน ครองงาน การใช้ชีวิตภายใต้กฎระเบียบ กฎหมาย ข้อบังคับต่าง ๆ จึงทำให้มีความก้าวหน้าในชีวิตราชการ และกล่าวถึงการได้รับเข็มเกียรติยศจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มอบให้เมื่อปี 2564 ในฐานะศิษย์เก่าดีเด่น เพื่อให้น้อง ๆ ได้เห็นว่าเมื่อเราตั้งใจเรียน ตั้งใจประกอบอาชีพ อยู่ในกรอบคุณงามความดีแล้วเราจะประสบความสำเร็จ และเมื่อปี 2565 ตนได้รับการยกย่องให้เป็นศิษย์เก่าดีเด่นในวาระครบรอบ 50 ปีของโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)

ทั้งยังได้กล่าวถึงการเรียนรู้ว่า การที่เราเรียนรู้ให้มากนั้นเป็นเรื่องที่ดีและเราสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต โดยเฉพาะเรื่องของภาษาซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ เป็นการเติมคุณค่าให้ตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัจจุบันทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ง่าย การที่เรารู้ภาษามากจะเป็นข้อได้เปรียบในสภาวะการแข่งขันที่ต่อไปเราสามารถนำมาใช้ในวิชาชีพที่เราจะประกอบอาชีพได้ในอนาคตในส่วนของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกให้เป็นองค์กรคุณธรรมต้นแบบนั้น เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2566 สำนักงานฯ ได้รับการประกาศยกย่องจากคณะกรรมการคุณธรรมแห่งชาติ ให้เป็นองค์กรคุณธรรมต้นแบบดีเด่นระดับชาติ เป็น 1 ใน 8 ของระดับชาติซึ่งได้รับรางวัลจากนายกรัฐมนตรี พร้อมกันนั้นสำนักทั้งหมด 24 สำนัก ยังได้รับการประกาศเป็นองค์กรคุณธรรมต้นแบบด้วย จึงเป็นความภาคภูมิใจของสำนักงานฯ และบุคลากรทุกคน ที่ได้ใช้เวลาประมาณ 5 ปี ในการสร้างองค์กร สร้างวัฒนธรรมองค์กร และความดีความงามขององค์กร


นอกจากนี้ ได้กล่าวถึงบ้านเมืองสุจริต ซึ่งมีหลักการที่เป็นแนวทางอยู่ 8 ข้อ โดยคณะกรรมการบ้านเมืองสุจริต ได้ถอดบทเรียนจนสามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตจริง และได้ร่วมกันสร้างบ้านเมืองสุจริตซึ่งเป็นภาพใหญ่ของประเทศ แต่ในที่สุดแล้วก็ลงมายังคน เพราะการสร้างบ้านเมืองสุจริตได้ต้องประกอบด้วยคนดีในสังคม ทั้งนี้ การประพฤติปฏิบัติตนที่ดีเพื่อเสริมสร้างบ้านเมืองสุจริตที่ดีมี 8 ข้อ ดังนี้ 

  1. การยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งต้องตระหนักและนำหลักประชาธิปไตยไปใช้ในชีวิตอย่างเป็นนิสัย ยึดหลักความเสมอภาค หลักนิติธรรม หลักความมีเหตุผล หลักการถือเสียงข้างมาก นี่คือหลักของระบอบประชาธิปไตย
  2. ยึดมั่นในคุณธรรมจริยธรรม ยึดมั่นในคุณงามความดี ประพฤติปฏิบัติตนตามคุณงามความดีที่ยึดมั่นจนเป็นนิสัย เพราะเมื่อเป็นนิสัยแล้วเราจะสามารถมองหน้าคนอื่นได้อย่างสุจริตใจว่าเราเป็นคนที่มีคุณธรรมจริยธรรม เป็นความดีงามที่ระเบิดจากข้างในมาสู่ข้างนอกที่ทุกคนสามารถสัมผัสได้ ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะต้องปลูกฝังเข้าไปในจิตสำนึกของเรา
  3. การมีจิตสำนึกที่ดี มีความตั้งใจและรับผิดชอบในการงานที่ได้รับมอบหมาย รู้จักเสียสละ คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม และคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสังคมต่อการปฏิบัติตนของตนเอง
  4. การมีสำนึกรับผิดชอบต่อหน้าที่ ซึ่งสังคมจะดีต่อเมื่อมีผู้รับผิดชอบต่อหน้าที่ พร้อมที่จะรับผิดชอบในสิ่งที่อยู่ในอำนาจที่ตนได้รับมอบให้ปฏิบัติ พร้อมที่จะตรวจสอบได้ โดยการรู้หน้าที่จะทำให้บ้านเมืองเกิดความสุจริต

ที่มา : สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร