นโยบายภาครัฐกับการแก้ปัญหาความยากจน

นโยบายภาครัฐกับการแก้ปัญหาความยากจน

การเกิดขึ้นของโรคอุบัติใหม่ร้ายแรงอย่างโควิด-19 ที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ เป็นวงกว้างทำให้แรงงานตกงานเพิ่มมากขึ้น กลุ่มคนที่มีรายได้ใกล้เส้นความยากจน หรือเรียกว่า "กลุ่มเปราะบาง" ซึ่งในปี 2562 พบว่ามีสูงถึง 5.4 ล้านคน โดยคนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นคนจนได้ง่าย เมื่อประสบปัญหา เช่น การเจ็บป่วย การว่างงาน การประสบอุบัติภัย มีรายงานที่ชี้ว่าประเทศไทยยังมีกลุ่มครัวเรือนเปราะบาง ซึ่งเสี่ยงที่จะกลายเป็นครัวเรือนยากจน เมื่อได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประมาณ 1.2 ล้านครัวเรือน

รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณในการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำด้านรายได้อย่างต่อเนื่อง จึงได้ออกมาตรการเยียวยาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน เช่น มาตรการ "เราไม่ทิ้งกัน" มาตรการเยียวยากลุ่มเปราะบาง-บัตรคนจน อย่างไรก็ตาม จากมาตรการต่าง ๆ พบว่า มีผู้ผ่านเงื่อนไขคุณสมบัติของผู้ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐทั้งสิ้น 11.4 ล้านคน แต่ประชาชนบางกลุ่มไม่สามารถเข้าถึงบางมาตรการได้ เนื่องจากมีการจำกัดจำนวนผู้ที่จะได้รับสิทธิและต้องลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ที่กำหนดเท่านั้น ทำให้ประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ได้รับความเดือดร้อนไม่สามารถลงทะเบียนเพื่อรับความช่วยเหลือได้

ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อประกอบอาชีพ สิ่งที่สำคัญที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการ คือ การตรวจสอบ ปรับปรุงฐานข้อมูล ให้มีความถูกต้อง และเป็นปัจจุบันอยู่เสมอ เพราะเชื่อว่ายังมีผู้ที่เดือดร้อนและต้องการความช่วยเหลือจากรัฐที่ตกหล่น จากการลงทะเบียนโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ นอกจากนี้ ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 อาจส่งผลให้ประชากรกลุ่มเปราะบางจำนวนหลายล้านคนได้รับความเดือดร้อน และมีโอกาสเสี่ยงที่จะกลายเป็นคนจนได้ในที่สุด

 

ที่มา : สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล. (2564). สุขภาพคนไทย 2564 : COVID-19 มหันตภัยร้ายเขย่าโลก.

ผู้จัดทำ :
วัลยา พุ่มต้นวงค์, บรรณารักษ์ปฏิบัติการ กลุ่มงานพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ สำนักวิชาการ
ธัญญาภัทร์ โทจำปา, เจ้าพนักงานธุรการชำนาญงาน กลุ่มงานพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ สำนักวิชาการ
Created on