การจัดการนวัตกรรม

การจัดการนวัตกรรม

ยุคเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม

ปัจจุบันประเทศไทยได้มีการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศไปสู่ยุคเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Value-Based Economy) เพื่อให้ก้าวพ้นจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำต่าง ๆ เป็นการสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ องค์ความรู้ด้านการจัดการนวัตกรรมมีความสำคัญยิ่งต่อการขับเคลื่อนดังกล่าวเพื่อเปลี่ยนปัญหาและความท้าทายให้เป็นศักยภาพและโอกาสในการสร้างความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนให้กับประเทศอย่างเป็นรูปธรรม

การจัดการนวัตกรรม เป็นหนังสือที่ผู้เขียนได้รวบรวมทฤษฎีและหลักการจัดการนวัตกรรม พร้อมมีวิธีอธิบายเรื่องที่ซับซ้อนให้เข้าใจง่าย สามารถเข้าใจภาพรวมของศาสตร์การจัดการนวัตกรรม โดยเนื้อหาประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 

ส่วนที่ 1 ความหมายและความสำคัญของนวัตกรรม นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับนวัตกรรม ความเป็นมา ความสำคัญของนวัตกรรมกับการประกอบการ นวัตกรรมกับการเติบโตของระบบเศรษฐกิจ นวัตกรรมการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี รวมถึงประเภทของนวัตกรรม เช่น การแบ่งประเภทของนวัตกรรม มุมมองของนวัตกรรมจากด้านเทคโนโลยี ความสัมพันธ์ระหว่างเทคโนโลยีและตลาด แหล่งที่มาของนวัตกรรมประเภทต่าง ๆ 

ส่วนที่ 2 พัฒนาการของนวัตกรรม นำเสนอทฤษฎีนวัตกรรม ได้แก่ ทฤษฎีที่เกี่ยวกับนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ ทฤษฎีที่เกี่ยวกับนวัตกรรมกระบวนการ ทฤษฎีที่เกี่ยวกับนวัตกรรมบริการ ทฤษฎีวงจรชีวิต และทฤษฎีที่เกี่ยวกับนวัตกรรมรูปแบบอื่น ๆ รวมถึงกลยุทธ์นวัตกรรม ทั้งกลยุทธ์นวัตกรรมประเภทต่าง ๆ กลยุทธ์นวัตกรรมเปรียบเทียบเทคโนโลยีและตลาด กลยุทธ์เตรียมรับการเปลี่ยนแปลง กลยุทธ์นวัตกรรมในบริบทของการบริหารจัดการ การวิเคราะห์เทคโนโลยีและความสามารถในการแข่งขัน ฯลฯ และ

ส่วนที่ 3 การจัดการนวัตกรรม นำเสนอความรู้พื้นฐานทรัพย์สินทางปัญญา เช่น ที่มาของทรัพย์สินทางปัญญาประเภทต่าง ๆ ทรัพย์สินทางปัญญาคืออะไร ทรัพย์สินทางปัญญาประเภทต่าง ๆ อีกทั้งกระบวนการสร้างนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ องค์ประกอบสำคัญ ประเภทและกระบวนการของความคิดสร้างสรรค์ กระบวนการสร้างผลิตภัณฑ์/บริการใหม่ รวมถึงการส่งเสริมวัฒนธรรมในองค์กร ทำไมต้องมีวัฒนธรรมการส่งเสริมนวัตกรรมวัฒนธรรมส่งเสริมนวัตกรรมทำอย่างไร และกลุ่มคนสำคัญในการดำเนินการนวัตกรรมในองค์กร ตลอดจนระบบนวัตกรรมแห่งชาติ (National Innovation System: NIS) ระบบนวัตกรรมระดับนานาชาติ ระบบนวัตกรรมของประเทศไทย และตัวชี้วัดด้านนวัตกรรม ทั้งนี้ องค์ความรู้ด้านนวัตกรรมจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมให้เกิดขึ้นในองค์กร 

หนังสือ "การจัดการนวัตกรรม" นี้พร้อมให้บริการ ท่านที่สนใจสามารถมาใช้บริการได้ที่หอสมุดรัฐสภา

 

ที่มา : สุชาติ ไตรภพสกุล  และ ชาคริต พิชญางกูร. (2563). การจัดการนวัตกรรม. [HD 45 ส761ก 2563]

ผู้จัดทำ :
สายฝน ดีงาม, บรรณารักษ์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานห้องสมุด สำนักวิชาการ
สารภี ช้างพลี, เจ้าพนักงานห้องสมุดอาวุโส กลุ่มงานห้องสมุด สำนักวิชาการ
Created on