Principles Infographic เปลี่ยนข้อมูลเข้าใจยาก ให้เป็นภาพที่ทรงพลัง

Principles Infographic เปลี่ยนข้อมูลเข้าใจยาก ให้เป็นภาพที่ทรงพลัง

เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับการสร้างอินโฟกราฟิก ตั้งแต่ประวัติความเป็นมาไปจนถึงการสร้างผลงานที่น่าประทับใจ อาทิ ต้นกำเนิดของอินโฟกราฟิกและกระบวนการจดจำของมนุษย์ หลักการใช้งานอินโฟกราฟิกแบบต่าง ๆ การออกแบบ ร่างแบบอินโฟกราฟิกให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนและน่าสนใจ ขั้นตอนการสร้างอินโฟกราฟิกในคอมพิวเตอร์ เทคนิคการทำอินโฟกราฟิกให้โดดเด่น ข้อควรระวังในการทำอินโฟกราฟิก พร้อมทั้งแหล่งข้อมูลสำหรับใช้เป็นไอเดียในการออกแบบและพัฒนาผลงาน

คำว่า อินโฟกราฟิก เกิดจากการผสมระหว่างคำว่า Information ซึ่งแปลว่าข้อมูล กับคำว่า Graphic ซึ่งหมายถึง การสร้างภาพให้ปรากฏขึ้น ดังนั้น Infographic จึงมีความหมายถึง การนำข้อมูลมาสรุปและจัดทำเป็นสื่อกราฟิก อินโฟกราฟิกที่ดีจะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจในเนื้อหามากขึ้น สามารถเปลี่ยนข้อมูลที่ดูยุ่งยากซับซ้อนให้เข้าใจได้ง่ายผ่านกราฟิกรูปแบบต่าง ๆ โดยไม่จำเป็นต้องมีการนำเสนอเพิ่มเติม

อินโฟกราฟิกแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ อินโฟกราฟิกที่เน้นผลสำรวจหรืองานวิจัย (Explorative) ให้ความสำคัญด้านข้อมูลและตัวเลข ลักษณะการออกแบบจะเรียบง่าย เช่น แผนภูมิ กราฟ และอินโฟกราฟิกที่เน้นด้านการถ่ายทอดข้อมูล (Narrative) ให้ความสำคัญด้านข้อมูลเช่นกัน และเน้นการสร้างความเข้าใจ ดึงดูดความสนใจ รวมถึงความสวยงาม ทั้งนี้ ปัจจุบันอินโฟกราฟิกมีการนำเสนอในรูปแบบใหม่ เช่น อินโฟกราฟิกแบบภาพนิ่ง แบบปฏิสัมพันธ์ และแบบเคลื่อนไหว อย่างไรก็ดี อินโฟกราฟิกเป็นสื่อสารสนเทศที่ต้องถูกสร้างขึ้นมาอย่างเป็นระบบ โดยองค์ประกอบสำคัญสามด้าน ได้แก่ จุดประสงค์ของการสื่อสาร ข้อมูล และการออกแบบที่สวยงามเข้าใจง่าย 

อินโฟกราฟิกจึงนับเป็นเครื่องมือการสื่อสารข้อมูลผ่านการมองเห็น อันเป็นวิธีที่ทรงประสิทธิภาพในการถ่ายทอดเรื่องราว ช่วยลดช่องว่างระหว่างภาษาและวัฒนธรรมให้ทุกคนสามารถเข้าใจตรงกัน

 

ที่มา : จุติพงศ์ ภูสุมาศ. (2560). Principles Infographic. [P 93.5 จ633พ 2560]

ผู้จัดทำ :
บุษราภรณ์ อัครนิธิยานนท์, บรรณารักษ์เชี่ยวชาญ กลุ่มงานพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ สำนักวิชาการ
วิลาวรรณ์ บุตดา, เจ้าพนักงานธุรการชำนาญงาน กลุ่มงานพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ สำนักวิชาการ
Created on