แนวคิดรัฐธรรมนูญนิยมกับการจัดโครงสร้างสถาบันการเมือง

แนวคิดรัฐธรรมนูญนิยมกับการจัดโครงสร้างสถาบันการเมือง

หนังสือเล่มนี้กล่าวถึงการออกแบบโครงสร้างสถาบันการเมืองผ่านสิ่งที่เรียกว่า "รัฐธรรมนูญ" นั้นมีความยุ่งยากซับซ้อนและมีปัจจัยที่หลากหลายที่ต้องอาศัยองค์ความรู้เฉพาะของสังคมนั้น ๆ มาเป็นฐานในการวางโครงสร้างสถาบันการเมือง ไม่สามารถนำองค์ความรู้ของประเทศใดประเทศหนึ่งมาใช้ได้ การรู้จักความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของประเทศว่ามีอะไรเป็นจุดแข็งของสังคม เพื่อนำมาออกแบบโครงสร้างสถาบันการเมืองให้สอดคล้องกับสังคมนั้น ๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญ

เนื้อหาที่นำเสนอกล่าวถึงแนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับการจัดโครงสร้างสถาบันการเมือง การศึกษาแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยม แนวคิดว่าด้วยสังคมวิทยาการเมืองกับการจัดโครงสร้างสถาบันการเมือง หลักการและแนวคิดพื้นฐานในการจัดโครงสร้างสถาบันการเมือง การศึกษารูปแบบของรัฐบาล โดยแบ่งตามระบบการเมืองในปัจจุบัน

ซึ่งหนังสือเล่มนี้นำเสนอเฉพาะระบบการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตยและระบบการปกครองแบบสังคมนิยม ได้แก่ ระบบรัฐสภา ระบบประธานาธิบดี ระบบพรรคการเมืองพรรคเดียว และระบบการเมืองระบบเสรีประชาธิปไตย รวมถึงการศึกษารูปแบบการปกครองของรัฐบาลใน 5 ประเทศ คือ ระบบรัฐสภาแบบอังกฤษ ระบบประธานาธิบดีแบบสหรัฐอเมริกา ระบบรัฐสภาสมัยใหม่แบบเยอรมนี ระบบกึ่งประธานาธิบดีแบบฝรั่งเศส ระบบสมัชชาแบบสวิตเซอร์แลนด์ พร้อมสรุปภาพรวมซึ่งทำให้เห็นถึงพัฒนาการทางประวัติศาสตร์หรือปัญหาพื้นฐานที่เกี่ยวกับการสร้างสถาบันการเมืองของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน 

นอกจากนี้ ได้ศึกษาแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยมกับการจัดโครงสร้างและสถาบันทางการเมืองของประเทศในเอเชีย 5 ประเทศ คือ ญี่ปุ่นอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และเมียนมา ซึ่งการศึกษารูปแบบรัฐบาลของทั้ง 5 ประเทศ มีการจัดโครงสร้างสถาบันการเมืองที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับสภาพสังคมวิทยาการเมืองของแต่ละประเทศ แต่ที่เหมือนกันคือทั้ง 5 ประเทศ ล้วนกำลังสร้างประชาธิปไตยที่สอดคล้องกับบริบทของตนเอง ซึ่งผู้เขียนเรียกประชาธิปไตยแบบนี้ว่าประชาธิปไตยตามแนวทางของรัฐธรรมนูญ พร้อมกันนี้ได้กล่าวถึงการศึกษาการเมืองการปกครองไทยกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นความพยายามพัฒนาไปสู่ประชาธิปไตยแบบตะวันตก

หนังสือ "แนวคิดรัฐธรรมนูญนิยมกับการจัดโครงสร้างสถาบันการเมือง" นี้พร้อมให้บริการท่านที่สนใจสามารถมาใช้บริการได้ที่หอสมุดรัฐสภา

 

ที่มา :  บรรเจิด สิงคะเนติ. (2563). แนวคิดรัฐธรรมนูญนิยมกับการจัดโครงสร้างสถาบันการเมือง. [KD 5 บ153น 2563]

ผู้จัดทำ :
พจพิณ พรมเอี่ยม, บรรณารักษ์ชำนาญการ กลุ่มงานห้องสมุด สำนักวิชาการ
สุพัณดา สุภาพ, เจ้าพนักงานธุรการชำนาญงาน กลุ่มงานห้องสมุด สำนักวิชาการ
Created on