อินโฟกราฟิก เรื่อง ยุบสภา

อินโฟกราฟิก เรื่อง ยุบสภา
Author:
นราภัทร เพชรมณี
No. of Pages:
1
Year:
2023

ยุบสภา (dissolution of parliament) หมายถึง การดำเนินการทางการเมืองเพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดที่มีอยู่ในขณะใดขณะหนึ่งต้องพ้นจากสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไปพร้อมกัน โดยนายกรัฐมนตรีจะถวายคำแนะนำเพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงตราพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร อันเป็นผลให้สภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งปวงพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระเพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ และจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป การยุบสภาที่ว่านี้ใช้กับสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น โดยไม่เกี่ยวข้องกับวุฒิสภา 

การยุบสภาผู้แทนราษฎรมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ 2 ประการ คือ

  • ประการแรก เป็นการถ่วงดุลหรือควบคุมฝ่ายนิติบัญญัติโดยฝ่ายบริหาร ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​
  • ประการที่สอง เป็นการอุทธรณ์ข้อขัดแย้งต่อประชาชน เพื่อให้ประชาชนตัดสินปัญหาสำคัญโดยการแสดงออกผ่านทางการใช้สิทธิเลือกตั้ง ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​

การยุบสภาผู้แทนราษฎรจะส่งผลให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง รวมถึงการดำรงตำแหน่งของประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรต้องสิ้นสุดลงด้วย (ตามบทบัญญัติมาตรา 101 (1) และมาตรา 117 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560) และรัฐมนตรีทั้งคณะต้องพ้นจากตำแหน่ง (ตามบทบัญญัติมาตรา 167 (2) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560) ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​

ตามประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศไทยมีการยุบสภามาแล้วจำนวน 14 ครั้ง ซึ่งครั้งแรกของประเทศไทยเกิดขึ้นในสมัยพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2481 

อ่านเพิ่มเติม
อ่านศัพท์รัฐสภาไทย : ยุบสภา

หมวดหมู่อินโฟกราฟิก :