บทสรุปเชิงนโยบาย POLICY BRIEF ฉบับที่ 1 ปี 2565 แนวทางการแก้ไขปัญหามิจฉาชีพทางโทรศัพท์ (แก๊งคอลเซ็นเตอร์)

Author:
สิฐสร กระแสร์สุนทร, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สำนักวิชาการ
คณาธิป ไกยชน, วิทยากรชำนาญการ กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สำนักวิชาการ
หน่วยงาน :
No. of Pages:
18
Year:
2022

 

ปัญหามิจฉาชีพทางโทรศัพท์ (แก๊งคอลเซ็นเตอร์) เป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจประเภทหนึ่งที่มีความเกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีการทำงานของแก๊งคอลเซ็นเตอร์จะต้องมีศูนย์กลางในการกระทำผิดและแบ่งการทำงานออกได้เป็น 4 กลุ่มหน้าที่ คือ กลุ่มคอลเซ็นเตอร์ (Call Center) กลุ่มม้าถอนเงิน กลุ่มจัดหาบัญชีธนาคารหรือบัตรอิเล็กทรอนิกส์ (บัตรเอทีเอ็ม) และกลุ่มจัดการทางการเงิน 

จากปัญหาและผลกระทบดังกล่าวได้สร้างความเสียหายต่อประเทศไทยจำนวนมหาศาลทั้งผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยว แม้ว่าการกระทำความผิดดังกล่าวจะเข้าข่ายลักษณะความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา แต่ก็ยังมีปัญหาในการบังคับใช้กฎหมาย เนื่องจากความไม่ชัดเจนของบทบัญญัติกฎหมายและปัญหาทางกฎหมายเรื่องอัตราโทษ ทำให้เกิดปัญหาและอุปสรรคต่อการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐได้ นอกจากนี้ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 ยังกำหนดขอบเขตไว้แบบกว้าง ๆ และกำหนดนิยามขององค์กรอาชญากรรมข้ามชาติไว้ในลักษณะการทำความผิดร้ายแรง ซึ่งอาจไม่ครอบคลุมการกระทำความผิดของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ รวมถึงพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 ยังมีความเกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ค่อนข้างน้อย ผู้เรียบเรียงจึงได้สรุปแนวทางการแก้ไขปัญหาของต่างประเทศและผลการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในด้านต่าง ๆ ดังนี้

 

1. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

ควรมีการจัดตั้งศูนย์หรือหน่วยงานเฉพาะในการป้องกันและปราบปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในรูปแบบของศูนย์ควบคุมสั่งการ (War Room) การสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยใช้ “ความร่วมมือระหว่างประเทศในคดีอาญา” หรือ “การส่งผู้ร้ายข้ามแดน” 

 

2. ข้อเสนอแนะเชิงกฎหมาย

2.1 ควรเพิ่มบทลงโทษทางกฎหมายตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 กับเครือข่ายและผู้ให้การสนับสนุน

2.2 ควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ในส่วนของความผิดฐานฉ้อโกง

2.3 ควรแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2551

2.4 ควรมีกฎหมายรูปแบบพิเศษ (Sui Generis) จะต้องตามทันเทคโนโลยีของคนร้ายที่มีลักษณะเป็นพลวัต

 

3. ข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติ

3.1 ควรมีการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

3.2 ควรมีการดำเนินการป้องกันและปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในลักษณะของการทำงานในลักษณะของหน่วยงานเดียวกันทั้งโลก (One Team One World)

3.3 ควรดำเนินการเพื่อป้องกันการกระทำผิดของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ด้วยการใช้ข้อมูลของลูกค้าในการกระทำผิด 

3.4 ดำเนินการวิเคราะห์เส้นทางการเงินของผู้กระทำความผิด โดยการตรวจสอบบัญชีที่ผิดปกติที่มีพฤติการณ์การถอน การโอน การเปิดบัญชีที่น่าสงสัย

3.5 การป้องกันการตกเป็นเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในระดับบุคคล ด้วยการประชาสัมพันธ์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

3.6 ควรมีกระบวนการจำแนกผู้กระทำผิดที่เกี่ยวข้องกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์

3.7 ควรนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) มาใช้ในการตรวจสอบข้อความและปิดกั้น (Block) เบอร์โทรศัพท์จากมิจฉาชีพ