บทสรุปเชิงนโยบาย POLICY BRIEF ฉบับที่ 2 ปี 2565 เรื่อง แนวทางการพัฒนาระบบประกันสังคม

Author:
นารีลักษณ์ ศิริวรรณ, วิทยากรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สำนักวิชาการ
วิจิตรา ประยูรวงษ์, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สำนักวิชาการ
หน่วยงาน :
No. of Pages:
21
Year:
2022

 

แนวทางการพัฒนาระบบประกันสังคม ระบบการประกันสังคมของไทยเป็นไปตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยได้มีการปรับปรุงแก้ไขมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาในประเด็นสำคัญ คือ 

  1. ความคุ้มครองในแต่ละประเภท มีความแตกต่างกันในมิติต่าง ๆ อาทิช่วงระยะเวลาในการใช้สิทธิ ความจำเป็นเร่งด่วนการใช้สิทธิ หรือลักษณะการใช้สิทธิจริงของผู้ประกันตน เช่น กรณีการเจ็บป่วยเป็นสิทธิประโยชน์เร่งด่วน การใช้สิทธิอาจเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ และไม่จำเป็นที่จะต้องเกิดขึ้นกับผู้ประกันตนทุกคน ในขณะที่กรณีชราภาพ กองทุนมีภาระที่ยาวนานกว่า 
  2. อัตราเงินสมทบการคุ้มครองแต่ละประเภทมีความแตกต่างกัน เพื่อการบริหารจัดการที่โปร่งใสและเป็นธรรม จึงไม่ควรนำเงินสมทบเพื่อการคุ้มครองประเภทหนึ่งไปแบกรับภาระความรับผิดชอบของการคุ้มครองอีกประเภทหนึ่ง 
  3. การดำรงสภาพคล่องของกองทุนเพื่อการคุ้มครองแต่ละประเภทมีความแตกต่างกัน เช่น กองทุนเพื่อการคุ้มครองกรณีเจ็บป่วย ต้องการสภาพคล่องสูงเนื่องจากความเจ็บป่วยเกิดขึ้นโดยไม่มีเวลาที่แน่นอน เงินในกองทุนต้องสามารถนำมาใช้จ่ายได้ทันที ส่วนในกรณีชราภาพการดำรงสภาพคล่องสามารถคำนวณล่วงหน้าได้

จากการศึกษาระบบประกันสังคมของสาธารณรัฐเยอรมัน ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น พบประเด็นการพัฒนาระบบประกันสังคมของไทย ซึ่งรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการดำเนินการด้านกฎหมายและด้านนโยบายเพื่อพัฒนาระบบการประกันสังคมของไทยดังนี้ 

ด้านกฎหมายกฎหมาย ประกันสังคมควรได้รับการปรับปรุงแก้ไขโดยขยายความครอบคลุมระบบประกันสังคมในเรื่องสิทธิประโยชน์และการดำเนินงานของสำนักงานประกันสังคม ดังนี้

1) กำหนดอายุผู้ประกันตนจากเดิมอายุ 15–60 ปี เป็นอายุ 15–65 ปี เพื่อเป็นการขยายระยะเวลาการเรียกเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมตามระยะเวลาการขยายอายุการเกิดสิทธิ

2) กรณีที่ผู้ประกันตนมาตรา 33 สิ้นสุดลง และประสงค์จะสมัครมาตรา 39 จากเดิมจะต้องจ่ายเงินสมทบมาตรา 33 ไม่น้อยกว่า 12 เดือน ควรปรับเป็นไม่น้อยกว่า 48 เดือน

3) คำนวณเงินเพิ่มกรณีค้างชำระร้อยละ 2 ต่อเดือนของจำนวนเงินสมทบที่ยังไม่ได้นำส่ง นับแต่วันถัดจากวันที่ต้องนำส่งเงินสมทบ

4) ปฏิรูประบบบำนาญกรณีชราภาพที่จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน

5) เพิ่มอัตราการสมทบเพื่อส่งเสริมวินัยทางการเงินมากขึ้น

6) ผลประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานสำหรับผู้ที่มีอายุเกิน 55 ปีบริบูรณ์

7) ปรับเพิ่มเพดานเงินสมทบจากเดิมสูงสุด 15,000 บาท เป็น 25,000 บาท 

8) กำหนดมาตรการทางกฎหมายและบทลงโทษนายจ้างกรณีหักเงินสมทบลูกจ้างแล้วมิได้นำเงินสมทบกองทุนประกันสังคมตามหลักประมวลกฎหมายอาญา

9) ปรับปรุงอัตราสมทบและสิทธิประโยชน์ของระบบประกันสังคมในทุกรูปแบบให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในปัจจุบันและค่าครองชีพที่จะสูงขึ้นในอนาคต

ด้านนโยบาย

1) ควรปรับรูปแบบการลงทุนเงินกองทุนประกันสังคมจากปัจจุบันกองทุนประกันสังคมเลือกลงทุนในรูปแบบที่มีความเสี่ยงต่ำมาก ทำให้ได้ดอกผลน้อย

2) สร้างแรงจูงใจให้แรงงานนอกระบบตระหนักถึงความสำคัญของการเข้าสู่ระบบประกันสังคมและเพิ่มสิทธิประโยชน์ของแรงงานนอกระบบตามกฎหมายประกันสังคมให้มีความใกล้เคียงกับแรงงานในระบบ

3) ทำงานเชิงบูรณาการด้านการประกันสังคมของสำนักงานประกันสังคมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

4) ประชาสัมพันธ์และสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบประกันสังคมผ่านช่องทางการสื่อสารทุกรูปแบบ