บทสรุปเชิงนโยบาย POLICY BRIEF ฉบับที่ 3 ปี 2565 เรื่อง การจัดการแรงงานต่างชาติ

Author:
ปิยะวรรณ ปานโต, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สำนักวิชาการ
บูชิตา ไวทยานนท์, วิทยากรชำนาญการ กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สำนักวิชาการ
หน่วยงาน :
No. of Pages:
19
Year:
2022

 

การบริหารจัดการแรงงานต่างชาติมีความสำคัญและความเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วนโดยเฉพาะความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งการบริหารจัดการยังขาดการบูรณาการและความเชื่อมโยงในทุก ๆ มิติอย่างเป็นระบบ เพื่อเป็นการลดปัญหาและอุปสรรคด้านการบริหารจัดการกับแรงงานต่างชาติในประเทศ จึงควรมีการพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างชาติที่ผิดกฎหมายให้มีประสิทธิภาพ ทำให้ลดการแสวงหาประโยชน์จากแรงงานต่างชาติ และลดความเสี่ยงการค้ามนุษย์จากระดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP) ของประเทศไทย ตลอดจนบรรลุวัตถุประสงค์ตามกรอบและยุทธศาสตร์ชาติการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นซึ่งภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฯลฯ ควรดำเนินการ ดังนี้

ด้านกฎหมาย

1. ภาครัฐควรปรับปรุงกฎ ระเบียบ/กฎหมาย ให้มีความสอดคล้องกับภาวะปัจจุบัน

2. กำหนดมาตรการด้านแรงงาต่างชาติผิดกฎหมายให้เป็นมาตรฐานสากล

ด้านนโยบาย

1. ส่งเสริมให้ความรู้อย่างต่อเนื่องแก่แรงงานต่างชาติในทุกสัญชาติ อาทิ การฝึกอบรมพัฒนาฝีมือแรงงานในทุกระดับทักษะเพื่อเสริมสร้างความชำนาญให้เกิดความรู้และทักษะที่หลากหลายและสอดคล้องตรงความต้องการของนายจ้าง

2. กำหนดระบบการควบคุมจำนวนแรงงานต่างชาติอย่างเข้มงวดที่เข้ามาในประเทศอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ เพื่อให้มีแรงงานต่างชาติเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ ที่ได้รับการปฏิบัติตามมาตรฐานการจ้างและการวางรากฐานด้านแรงงานให้เป็นมาตรฐานสากล อีกทั้งเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์การทารุณกรรมต่อแรงงานต่างชาติ หรือปัญหาต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในทุกมิติ

3. เปิดโอกาสให้หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุขกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง ผู้ประกอบการ นายจ้าง หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วม โดยการกำหนดนโยบายในกรอบความเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติก่อนที่จะประกาศบังคับใช้ เพื่อมีส่วนเกี่ยวข้องในการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน

4. กำหนดนโยบายการจัดการแรงงานต่างชาติให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ทั้งในส่วนของแรงงาน ประเภท ฝีมือ และอื่น ๆ และแรงงานประเภททั่วไป รวมทั้งแนวทางการปฏิบัติตามนโยบายให้เหมาะสมและสอดคล้องตามสถานการณ์

5. เจ้าหน้าที่และบุคลากรผู้ปฏิบัติงานควรได้รับการอบรมให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการแรงงานต่างชาติอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มีความชัดเจนและต่อเนื่อง

6. กำหนดนโยบายที่เป็นเอกภาพ และมาตรการทางกฎหมายที่ชัดเจนเพื่อให้ความรู้และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มความรู้ความเข้าใจให้แก่แรงงานต่างชาติ และนายจ้างในเรื่องเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ และความปลอดภัยในการทำงาน

7. สนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการด้านสวัสดิการแรงงานควบคู่ไปกับสวัสดิการภาครัฐให้ครอบคลุมในทุก ๆ มิติ

8. มีการบูรณาการฐานข้อมูลของแรงงานข้ามชาติให้เป็นรูปแบบดิจิทัลผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อง่ายต่อการเข้าถึงข้อมูลหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ การรักษาพยาบาล การศึกษา โดยมีฐานข้อมูลของแรงงานต่างชาติที่ครอบคลุมทุกกลุ่มแรงงานในทุกมิติ

9. กำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนลูกจ้างแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยอาจเรียกเก็บเงินจากแรงงานต่างชาติ และการเก็บเงินค่าธรรมเนียมการจ้างแรงงนต่างชาติจากนายจ้าง และควรมีวิธีการที่จะสามารถนำเงินในส่วนที่แรงงานต่างชาติจะต้องจ่ายกลับมา เพื่อให้มาเป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณในการบริหารจัดการสุขภาพ และการศึกษาของบุตรแรงงานต่างชาติอย่างเป็นระบบ และมีประสิทธิภาพมากที่สุด รวมถึงจะต้องดำเนินการกับกรณีแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานตามเงื่อนไขในใบอนุญาตหากเดินทางกลับประเทศก่อน 183 วัน ควรมีการเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาร้อยละ 15 ของค่าจ้างทั้งหมด

10. ในกรณีแรงงานต่างชาติที่เข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมาย ภาครัฐจะต้องกำหนดนโยบายมาตรการและแนวทางปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาชาวโรนจาอย่างเป็นระบบ และควรมีการประชุมกับประเทศต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมหาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน อีกทั้งควรสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาคมโลกที่ปฏิบัติต่อชาวโรนจาอย่างชอบธรรมตามกรอบของกฎหมายไทย แต่อาจจะยอมให้พักพิงได้ชั่วคราวในระยะสั้น นอกจากนี้ ควรมีการเร่งปราบปรามเจ้าหน้าที่ของรัฐและผู้ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับขบวนการลักลอบเข้าเมืองที่ผิดกฎหมาย และการค้ามนุษย์อย่างจริงจังและเด็ดขาด