บทสรุปเชิงนโยบาย POLICY BRIEF ฉบับที่ 5 ปี 2565 สมรสเท่าเทียม

Author:
จันทมร สีหาบุญลี, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สำนักวิชาการ
วิมลรักษ์ ศานติธรรม, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สำนักวิชาการ
อัญชลี จวงจันทร์, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สำนักวิชาการ
หน่วยงาน :
No. of Pages:
19
Year:
2022

 

สถานะทางเพศ หมายถึง ลักษณะในเชิงสังคมและจิตวิทยาที่ใช้เป็นพื้นฐานในการแบ่งแยกกลุ่มมนุษย์ว่า เป็นหญิง (Feminine) เป็นชาย (Masculine) หรือเป็นหญิงชาย (Androgens) สถานะทางเพศแบ่งเป็น เพศวิถี (Scxual Orientation) คือ ความรู้สึกรสนิยมทางเพศ รวมถึงความพอใจทางเพศที่มีต่อบุคคลอื่น ส่วนอัตลักษณ์ทางเพศ (Cinder Identify) คือ การรับรู้ว่าตนเองต้องการเป็นผู้ชายหรือเป็นผู้หญิงซึ่งบางคนมีอัตลักษณ์ทางเพศตรงกับอวัยวะเพศ และโครงสร้างทางร่างกาย แต่บางคนอาจมีอัตลักษณ์ทางเพศแตกต่างจากโครงสร้างทางร่างกายเรียกคนกลุ่มนี้ว่า "คนข้ามเพศ" (Transgender) โดยคนข้ามเพศอาจเป็นผู้ที่ไม่สามารถกำหนดให้ตนเองเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงเพียงเพศใดเพศหนึ่งได้ด้วยคนกลุ่มนี้มีชื่อเรียกตามเพศวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศ ได้แก่ เกย์ (Gay) เลสเบี้ยน (Lesbian) คนรักสองเพศ (Bisexual) คนข้ามเพศ (Intersex) และคนมีเพศกำกวม (Queer) ความหลากหลายทางเพศเหล่านี้จึงมิได้บ่งชี้เฉพาะเพศกำเนิดเท่านั้น หากแต่แสดงให้เห็นว่าคนกลุ่มนี้ยังมีปฏิสัมพันธ์ในมิติอื่น ๆ เช่น ความรัก ความสัมพันธ์ทางกาย ความต้องการการยอมรับ เพื่อให้มีพื้นที่การแสดงออกในรูปแบบของความสัมพันธ์ที่ต้องได้รับการยอมรับทางกฎหมายและสังคม จึงนำมาสู่การเรียกร้องให้ได้รับความเสมอภาคตามหลักสิทธิมนุษยชนและการเกิดสิทธิตามกฎหมายเสมือนคนรักต่างเพศชายและหญิงหรือที่รับทราบกันโดยทั่วไป คือ สมรสเท่าเทียม

สมรสเท่าเทียม คือ การสมรสของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ไม่จำกัดเฉพาะชายและหญิงเท่านั้นแต่จะครอบคลุมทุกเพศสภาพ ทั้งเพศวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศเพื่อให้บุคคลเหล่านี้ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายตามหลักความเสมอภาคและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยจะก่อให้เกิดสิทธิในการหมั้น การจดทะเบียนสมรส การจัดการรัพย์สินของคู่สมรส การเป็นผู้จัดการแทนในทางอาญาเช่นเดียวกับคู่สมรส การรับมรดกเมื่ออีกฝ่ายเสียชีวิต การรับบุตรบุญธรรม การรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม รวมทั้งได้รับสิทธิประโยชน์การเบิกจ่ายสวัสดิการจากรัฐในฐานะคู่สมรส เช่น การรับประโยชน์ทตแทนจากประกันสังคม และการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล รวมถึงสิทธิอื่น ๆ ทางกฎหมายที่รับรองสิทธิของคู่สมรส

บทสรุป
การตรากฎหมายเพื่อให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในฐานะพลเมืองได้เข้าถึงกฎหมายและได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน แม้จะมีความจำเป็นที่ต้องอนุวัติกฎหมายตามกติกาสากล แต่เนื่องจากลักษณะสภาพสังคมวิทยา วัฒนธรรม จารีตประเพณีของไทย โดยเฉพาะกลุ่มอนุรักษ์นิยมและองค์กรศาสนามีทัศนคติและความเชื่อให้คนต้องแสดงออกตามเพศกำเนิดของตน และมีความเชื่อว่าเพศชายต้องคู่กับเพศหญิงเพื่อสืบทอดสายโลหิตและดำรงเผ่าพันธุ์ เนื่องจากสภาพสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง การแสดงออกซึ่งอัตลักษณ์ทางเพศ ตามรสนิยมตลอดจนการปรารถนาในการใช้ชีวิตคู่อยู่ร่วมกันและประสงค์จะได้รับสิทธิทางกฎหมายเช่นเดียวกับการสมรสของคู่รักต่างเพศ ดังนั้น การเสนอร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อรองรับสถานะของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศจึงเป็นการตรากฎหมายเพื่อรองรับและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพความเป็นพลเมือง และเป็นการวางบรรทัดฐานใหม่ของสังคมไทยเกี่ยวกับผู้มีความหลากหลายทางเพศ การตรากฎหมายนี้จะสอดคล้องกับข้อเสนอแนะของศาลรัฐธรรมนูญ และจะนำไปสู่ความลดน้อยถอยลงจากการถูกเลือกปฏิบัติของคนกลุ่มนี้และการยอมรับในทางสังคมก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วย

ข้อเสนอแนะ
1. กฎหมายสมสเท่าเทียมของต่างประเทศ ส่วนใหญ่มีพัฒนาการตามความต้องการของผู้มีความหลากหลายทางเพศแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้มีความครบถ้วนครอบคลุมในทุกมิติเช่นการสมรสโดยทันทีดังนั้น การมีบทบัญญัติทางกฎหมายเกี่ยวกับการสมรสเท่าเทียมของประเทศไทยจึงควรมีบทบัญญัติกฎหมายแบบค่อยเป็นค่อยไปตามพลวัตรของสังคม การยกร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมเพื่อให้ครอบคลุมในทุกมิติทั้งเชิงกฎหมาย เศรษฐกิจ และสังคมให้เกิดขึ้นและมีผลเช่นเดียวกับการสมรสของคู่รักต่างเพศอาจได้รับการต่อต้านได้

2. ควรมีการศึกษาข้อมูลความต้องการของคนกลุ่มนี้ตามอัตลักษณ์ทางเพศอย่างรอบด้าน เพื่อให้ประเด็นทางกฎหมายมีความครบถ้วนครอบคลุมกับอัตลักษณ์ สนิยม และความหลากหลายทางเพศ

3. บทบัญญัติทางกฎหมายเกี่ยวกับการสมรสเท่าเทียมจะต้องกำหนดประเด็นในรายละเอียดย่อยให้สอดคล้องและเหมาะสมตามหลักการของแต่ละศาสนา เช่น การแต่งกายเข้าร่วมประกอบพิธีกรรมทางศาสนา จะต้องปฏิบัติตามหลักการของศาสนานั้น  โดยเคร่งครัด หรือการบัญญัติกฎหมาย โดยมีข้อยกเว้นเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการของแต่ละศาสนา ทั้งนี้ เพื่อรักษาไว้ซึ่งสังคมพหุวัฒนธรรม

4. การยกร่างกฎหมายจะต้องคำนึงอย่างรอบคอบ ไม่เฉพาะประเด็นทางกฎหมายของผู้มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้น เช่น กรณีกฎหมายของสหราชอาณาจักรที่มีรูปแบบของกฎหมาย คือ การจดทะเบียนคู่ชีวิตและการสมรส จนนำไปสู่การเรียกร้องของคู่รักต่างเพศที่ต้องการจดทะเบียนคู่ชีวิต เพราะไม่ต้องการผลผูกพันทางกฎหมายเช่นการสมรส

5. การบัญญัติกฎหมายเฉพาะเพื่อให้มีผลบังคับใช้กับคู่สมรสเพศเดียวกัน จึงน่าจะเป็นช่องทางที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ของสังคมไทยในปัจจุบันด้วยการยกร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ.....โดยนำสาระสำคัญที่ต้องการจะแก้ไขในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาเป็นสาระสำคัญในกฎหมายคู่ชีวิตทั้งนี้ เพื่อให้ง่ายต่อการสร้างความเข้าใจของบุคคลโดยทั่วไป อีกทั้งกฎหมายนี้จะได้มีความเป็นเอกภาพในการบังคับใช้และป้องกันความสับสนในการตีความกฎหมายในอนาคต อย่างไรก็ตาม กฎหมายคู่ชีวิตจะเป็นข้อยืนยันอย่างชัดเจนว่า สังคมไทยยอมรับการมีอยู่ของคู่สมรสผู้มีความหลากหลายทางเพศในฐานะพลเมืองตามหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน