เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น

Script Writer
สุภัทร คำมุงคุณ, วิทยากรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2022-01
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีในประเด็นการเกษตร (พ.ศ. 2561-2580)ได้กำหนดให้เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่นเป็นหนึ่งในแผนย่อยของแผนแม่บทดังกล่าวเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตร โดยการนำจุดเด่นของอัตลักษณ์พื้นถิ่นและภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยมาใช้ในการผลิตและจำหน่ายสินค้าเกษตร เพื่อพัฒนาและต่อยอดการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร ซึ่งครอบคลุมถึงสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะพื้นที่ สินค้าจากภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยสินค้าศิลปาชีพ สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ตลอดจนพืชผลเกษตรและผลไม้เขตร้อน

ทั้งนี้ แผนย่อยเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่นได้กำหนดเป้าหมายให้สินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่นมีมูลค่าเพิ่มขึ้น โดยเป้าหมายในปี 2561-2565 ต้องมีอัตราการขยายตัวของมูลค่าสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น เฉลี่ยร้อยละ 3 และทุก ๆ ระยะ 5 ปี กำหนดค่าเป้าหมายให้มีอัตราการขยายตัวของมูลค่าสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น เฉลี่ยร้อยละ 4 ร้อยละ 5 และร้อยละ 6 ตามลำดับ ตลอดจนได้กำหนดแนวทางการพัฒนาเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น ดังนี้

1) ส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่นด้วยการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญา นวัตกรรมและเทคโนโลยีการพัฒนากระบวนการผลิตและบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้มีสินค้าอัตลักษณ์พื้นถิ่นออกสู่ตลาดสม่ำเสมอ รวมถึงสินค้าเกษตรนอกฤดูกาล ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลาย 

2) ส่งเสริมการพัฒนาและยกระดับความสามารถของเกษตรกรและชุมชนในการพัฒนาสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น เพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

3) สร้างอัตลักษณ์หรือนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดให้กับสินค้า สร้างความแตกต่างและความโดดเด่นของสินค้าในแต่ละท้องถิ่น และสร้างตราสินค้าของเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น ตลอดจนใช้ประโยชน์จากเอกลักษณ์แต่ละพื้นที่ในการเชื่อมโยงไปสู่ภาคการผลิตอื่น เช่น การท่องเที่ยวและบริการ และส่งเสริมการบริโภคสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่นในระดับประเทศ และเพื่อการส่งออกไปยังตลาดโลก

ปัจจุบันมีสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่นที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะพื้นที่กระจายอยู่ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ตัวอย่างเช่น ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ที่ปลูกในพื้นที่ครอบคลุม 5 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้แก่ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ศรีสะเกษ มหาสารคาม และยโสธร โดยเป็นพื้นที่แห้งแล้งและมีความเค็มในดิน ส่งผลให้ข้าวเกิดความเครียดและหลั่งสารหอม จึงทำให้ข้าวมีความหอมมากกว่าข้าวหอมจากแหล่งอื่น ๆ ซึ่งเป็นความพิเศษที่เกิดจากลักษณะทางภูมิศาสตร์ หรือข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุงในภาคใต้ที่มีลักษณะข้าวเปลือกสีฟาง หากเป็นข้าวกล้องจะมีสีแดงจนถึงแดงเข้มในเมล็ดเดียวกัน สำหรับข้าวสารเมล็ดข้าวจะมีสีขาวปนแดงแกมชมพู รูปร่างเรียวเล็ก อ่อนนุ่ม มีสีชมพูแดงเป็นเอกลักษณ์ เป็นต้น

การดำเนินงานขับเคลื่อนสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่นที่ผ่านมามีแนวโน้มการขยายตัวในทิศทางที่ดี โดยในปี 2560-2563 สินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่นประเภทข้าวหอมมะลิและผลไม้เมืองร้อน มีอัตราการขยายตัวของมูลค่าเฉลี่ยร้อยละ 9.88 ต่อปี โดยที่ผ่านมาภาครัฐได้มีการดำเนินงานส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อขับเคลื่อนสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่นผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตด้านการเกษตรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพไม้ผลด้านการผลิต การตลาดและยกระดับสู่มาตรฐานการส่งออก การขยายการผลิตนอกฤดู โครงการส่งเสริมตลาดผลไม้เพื่อสร้างและพัฒนาช่องทางการจำหน่าย โครงการส่งเสริมและคุ้มครองสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย โครงการส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตรตามอัตลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่นเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม จำเป็นต้องประสานความร่วมมือทั้งจากเกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เกิดกระบวนการทำงานร่วมกันตลอดห่วงโซ่อุปทานการควบคุมคุณภาพสินค้า การปรับปรุงสินค้าให้เข้ากับกระแสความต้องการของผู้บริโภค เพื่อสร้างความนิยมและความเชื่อมั่นต่อคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น รวมถึงการสื่อสารให้ผู้บริโภคได้รับรู้ถึงเรื่องราวของสินค้าและความโดดเด่นที่แตกต่างจากสินค้าทั่วไป ตลอดจนการพัฒนาช่องทางด้านการตลาดและบรรจุภัณฑ์เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่นไทย

ภาพปก