องค์กรดิจิทัล

Script Writer
ปภัชญา อินสิงห์, วิทยากรปฏิบัติการ กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2024-06
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

โลกปัจจุบันได้เข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล นำมาซึ่งความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่จะต้องมีการพัฒนาให้เกิดความสมดุลทั้งในด้านบุคลากร กระบวนการทำงานและระบบสารสนเทศ เพื่อให้ก้าวไปสู่การเป็นองค์กรดิจิทัล (Digital Organization) ซึ่งเป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หมวด 16 การปฏิรูปประเทศ ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ได้บัญญัติให้มีการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน การจัดทำบริการสาธารณะ และเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน จึงมีการตราพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 เพื่อส่งเสริมการทำงานและการให้บริการของภาครัฐ และการเป็นระบบราชการ 4.0 ที่เปิดกว้างและเชื่อมโยงกัน ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง มีขีดสมรรถนะสูงและทันสมัย

องค์กรดิจิทัลมีองค์ประกอบที่เป็นหัวใจสำคัญ 4 ประการ คือ

  1. 1) ปรับกระบวนคิดของคนในองค์กร (Digital Mindset) ในเรื่องของวิสัยทัศน์และความเชื่อมั่น ตั้งแต่ผู้บริหารสูงสุดจนถึงบุคลากรทุกระดับ ในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงไปสู่องค์กรดิจิทัล ซึ่งเมื่อกำหนดแนวทางที่ชัดเจนแล้วจะต้องลงทุนด้านงบประมาณและโครงสร้างพื้นฐานขององค์กรให้มีความพร้อมเพื่อรองรับการดำเนินงานดังกล่าว
  2. 2) ปรับกระบวนการทำงาน (Digital Process) ภายในองค์กร ให้เป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่และเป็นชุดเดียวกันทั้งองค์กร และใช้เทคโนโลยีในการจัดเก็บ วิเคราะห์ และประมวลผลข้อมูลแบบองค์รวมในระบบฐานข้อมูลกลาง เพื่อลดความซ้ำซ้อนของการจัดเก็บ และบุคลากรทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ทันสมัยได้
  3. 3) ปรับทักษะการใช้เทคโนโลยี (Digital Skills) โดยบุคลากรต้องปรับตัวให้มีความรู้ ความสามารถ มีทักษะการใช้งานเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ และ
  4. 4) ปรับวัฒนธรรมองค์กรสู่ดิจิทัล (Digital Culture) เพื่อให้เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน 

องค์กรของรัฐได้มีการนำระบบดิจิทัลมาใช้ในการบริการประชาชน อาทิ การจองคิวใช้บริการงานทะเบียนราษฎของกรมการปกครอง การจองคิวทำใบขับขี่ออนไลน์ของกรมการขนส่งทางบก การให้บริการยื่นภาษีออนไลน์ของกรมสรรพากร การจดทะเบียนการค้าออนไลน์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ การบริการประทับรับรองเวลาอิเล็กทรอนิกส์การันตีเอกสารดิจิทัลของไปรษณีย์ไทย นอกจากนี้ หลายหน่วยงานที่มีเอกสารจำนวนมากได้นำระบบการจัดเก็บเอกสารแบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้เพื่อให้สะดวกแก่การจัดเก็บและสืบค้น ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงานด้านการจัดเก็บข้อมูลเอกสาร 

ในส่วนของรัฐสภาได้ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนองค์กรเป็นรัฐสภาดิจิทัล มีการจัดทำแผนพัฒนารัฐสภาดิจิทัล พ.ศ. 2566–2570 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการปรับปรุงกระบวนการทำงานให้ความทันสมัย ลดการใช้ทรัพยากร เสริมกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ และพัฒนาสมรรถนะดิจิทัลของบุคลากรในองค์กร รวมถึงพัฒนาการให้บริการตามความต้องการของผู้รับบริการ เพื่อให้เกิดกระบวนการดำเนินงานอย่างมีธรรมาภิบาล ซึ่งหน่วยงานในสังกัดรัฐสภาได้จัดทำระบบฐานข้อมูลวิชาการและกฎหมายของส่วนราชการสังกัดรัฐสภา เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามาติดตามร่างกฎหมายต่าง ๆ ที่อยู่ในกระบวนการพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติผ่าน https://lis.parliament.go.th/law/ รวมถึงสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้สนับสนุนงานด้านนิติบัญญัติตามยุทธศาสตร์ของสำนักงานฯ เช่น ประเด็นการพัฒนาที่ 1 พัฒนาองค์กรให้ก้าวสู่ Digital Parliament โดยพัฒนากระบวนการปฏิบัติงานเป็นดิจิทัลเต็มรูปแบบและพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อนำไปสู่การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ (Open Data) ได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในองค์กร อาทิ

  1. 1) การประชุมอิเล็กทรอนิกส์
  2. 2) ระบบการปฏิบัติงานด้านแผนงาน โครงการงานคลังและงบประมาณ
  3. 3) ระบบสำนักงานอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในงานสารบรรณและงานธุรการ และ
  4. 4) คลังสารสนเทศของสถาบันนิติบัญญัติ (Legislative Institutional Repository of Thailand: LIRT) ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวม จัดเก็บ สงวนรักษา และเผยแพร่สารสนเทศดิจิทัลที่สนับสนุนบทบาทภารกิจของฝ่ายนิติบัญญัติ  

และประเด็นการพัฒนาที่ 3 ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคพลเมืองในกระบวนการนิติบัญญัติ โดยส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคพลเมืองและพัฒนากระบวนการสื่อสารทางการเมืองเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อสถาบันนิติบัญญัติ อาทิ

  1. 1) การเสนอร่างกฎหมาย ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถเข้าชื่อเสนอกฎหมายด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (e-Initiative) ทางเว็บไซต์ https://einitiative.parliament.go.th
  2. 2) การเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติผ่านระบบการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ ทางเว็บไซต์ https://www.parliament.go.th/section77/ 

การที่องค์กรต่าง ๆ จะก้าวสู่การเป็นองค์กรดิจิทัล จำเป็นต้องนำระบบเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการทำงาน การบริหารและการตัดสินใจ มีการบูรณาการฐานข้อมูลร่วมกัน ขับเคลื่อนนวัตกรรมดิจิทัลอย่างเต็มศักยภาพ จะช่วยเสริมสร้างการพัฒนาองค์กรให้มีขีดสมรรถนะสูง สามารถปฏิบัติงานทันต่อสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว มีความถูกต้องและเป็นระบบ ทำให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน ซึ่งทุกหน่วยงานจะต้องพัฒนาคนให้มีความรู้ มีทักษะ และความเชี่ยวชาญในการใช้งานเทคโนโลยีให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ก้าวสู่การเป็นองค์กรดิจิทัลที่ยั่งยืน

ภาพปก