ความคิดเห็นของนักศึกษาในเขตกรุงเทพมหานครต่อบทบาทของรายการสนทนาข่าวทางโทรทัศน์ กับการมีส่วนร่วมทางการเมือง

The Opinions of University Students in Bangkok Metropolis toward Television News Talk Programs’ Roles and Political Participation
Author
กาญจนา ครรภาฉาย
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ISBN
974-9726-13-8
Year
2548
Research Types
Research by Students

วิทยานิพนธ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตร วารสารศาสตรมหาบัณฑิต (สื่อสารมวลชน) คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2548

 

การวิจัยเรื่อง “ความคิดเห็นของนักศึกษาในเขตกรุงเทพมหานครต่อบทบาทของรายการสนทนาข่าวทางโทรทัศน์ กับการมีส่วนร่วมทางการเมือง” มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทราบถึงพฤติกรรมการรับชมรายการสนทนาข่าวทางโทรทัศน์ของนักศึกษาในเขตกรุงเทพมหานคร ความคิดเห็นของนักศึกษาต่อบทบาทของรายการสนทนาข่าวทางโทรทัศน์ และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของนักศึกษา รวมทั้งได้ศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะทางประชากรศาสตร์ของนักศึกษากับพฤติกรรมการรับชมรายการสนทนาข่าวทางโทรทัศน์ พฤติกรรมการรับชมรายการสนทนาข่าวทางโทรทัศน์ของนักศึกษากับการมีส่วนร่วมทางการเมือง และความคิดเห็นของนักศึกษาต่อบทบาทของรายการสนทนาข่าวทางโทรทัศน์กับการมีส่วนร่วมทางการเมือง

การวิจัยครั้งนี้แบ่งขั้นตอนการศึกษาออกได้เป็น 2 ส่วน ส่วนแรก ได้แก่ การวิจัยเชิงปริมาณ เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ แบบวัดผลครั้งเดียว กลุ่มประชากร คือ นักศึกษาในมหาวิทยาลัยของรัฐแบบจำกัดรับในเขตกรุงเทพมหานคร โดยมีกลุ่มตัวอย่างจำนวน 400 คน ใช้แบบสอบถามแบบผู้ตอบกรอกแบบสอบถามเอง และสุ่มตัวอย่างแบบ Multistage Sampling ในส่วนที่สอง คือ การศึกษาปริมาณการนำเสนอประเภทของเนื้อหาข่าวในรายการสนทนาข่าวทางโทรทัศน์ ได้รายการทั้งสิ้น 177 รายการ ใช้แบบบันทึกปริมาณการนำเสนอประเภทของเนื้อหาข่าวเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล เพื่อนำผลที่ได้มาประกอบการศึกษาวิเคราะห์เพิ่มเติม โดยมีการวิจัยเชิงปริมาณเป็นหลัก ปรากฏผลการวิจัยดังต่อไปนี้

1. ลักษณะทางประชากรศาสตร์ของนักศึกษากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ คือ กลุ่มตัวอย่างเป็นเพศหญิง อยู่ในกลุ่มอายุ ทั้ง 18-20 ปี และ 21-23 ปี โดยมีจำนวนเท่ากัน มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด กำลังศึกษาในกลุ่มคณะสายสังคมศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 ไม่เคยศึกษากลุ่มวิชาด้านรัฐศาสตร์ การเมือง การปกครอง และครอบครัวมีรายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 20,000 บาท

2. พฤติกรรมการรับชมรายการสนทนาข่าวทางโทรทัศน์ของกลุ่มตัวอย่างโดยส่วนใหญ่ คือ กลุ่มตัวอย่างชอบรับชมรายการ เรื่องเล่าเช้านี้ มากที่สุดในอันดับ 1 รับชมรายการในช่วงเวลา 21.00 - 22.00 น. มีความถี่ในการรับชมรายการ 2 - 3 ครั้งต่อวัน ระยะเวลาในการรับชมรายการแต่ละครั้ง คือ 31 - 60 นาที และติดตามชมรายการมากกว่า 5 เดือน ประเด็นข่าวในรายการที่กลุ่มตัวอย่างชอบรับชมมากที่สุดในอันดับ 1 คือ ข่าว ประเด็นปัญหา หรือเหตุการณ์ประจำวันที่เกิดขึ้นในสังคม เหตุผลที่รับชมรายการมากที่สุดในอันดับ 1 คือ เพื่อต้องการติดตามข่าวสารประจำวัน

3. ความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างที่มีต่อบทบาทของรายการสนทนาข่าวทางโทรทัศน์โดยรวมแล้ว กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความคิดเห็นว่า ไม่แน่ใจต่อบทบาทด้านการเมืองของรายการสนทนาข่าวทางโทรทัศน์ ทั้งบทบาทด้านการรายงานข่าวสารการเมือง บทบาทด้านแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์การเมือง บทบาทในการให้ความรู้ด้านการเมือง บทบาทด้านกระตุ้นให้เกิดความสนใจการเมือง

4. การมีส่วนร่วมทางการเมืองของกลุ่มตัวอย่างโดยส่วนใหญ่ ได้แก่ กลุ่มตัวอย่างไม่มีสิทธิ์ไปเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. ครั้งที่ผ่านมา กลุ่มตัวอย่างมีความตั้งใจไปใช้สิทธิ์ คือ ไปแน่ ๆ เพราะต้องการมีส่วนร่วมในการปกครอง และสิ่งที่มีอิทธิพลต่อการไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งมากที่สุด คือ โทรทัศน์ สำหรับความบ่อยครั้งในกิจกรรมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของกลุ่มตัวอย่างโดยเฉลี่ย คือ นาน ๆ ครั้ง

5. ลักษณะทางประชากรศาสตร์ของนักศึกษาในเขตกรุงเทพมหานคร ได้แก่ เพศ ชั้น ปีที่ศึกษา จำนวนวิชา รัฐศาสตร์ การเมืองการปกครอง ที่เคยหรือ กำลังศึกษา และรายได้ครอบครัว ไม่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการรับชมรายการสนทนาข่าวทางโทรทัศน์ ส่วนอายุของนักศึกษาไม่มีความสัมพันธ์กับความถี่ในการรับชมรายการและเวลาที่ติดตามชมรายการ แต่มีความสัมพันธ์กับระยะเวลาในการรับชมรายการในทิศทางบวกในระดับต่ำ และภูมิลำเนาของนักศึกษาไม่มีความสัมพันธ์กับ ระยะเวลาในการรับชมรายการและเวลาที่ติดตามรับชมรายการ แต่มีความสัมพันธ์กับความถี่ในการรับชมรายการ

6. พฤติกรรมการรับชมรายการสนทนาข่าวทางโทรทัศน์ของนักศึกษาในเขตกรุงเทพมหานคร ได้แก่ ความถี่ในการรับชมรายการมีความสัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมทางการเมืองในทิศทางบวกในระดับปานกลาง ระยะเวลาในการรับชมรายการมีความสัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมทางการเมืองในทิศทางบวกในระดับต่ำ แต่เวลาที่ติดตามรับชมรายการไม่มีความสัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมทางการเมือง

7. ความคิดเห็นของนักศึกษาในเขตกรุงเทพมหานครต่อบทบาทการรายงานข่าวสารการเมือง และบทบาทการกระตุ้นให้เกิดความสนใจการเมืองของรายการสนทนาข่าวทางโทรทัศน์มีความสัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมทางการเมืองในทิศทางบวกในระดับต่ำ แต่บทบาทด้านการแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ และบทบาทในการให้ความรู้ด้านการเมืองของรายการสนทนาข่าวทางโทรทัศน์ ไม่มีความสัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมทางการเมือง

8. ผลการศึกษาประเภทของเนื้อหาข่าวที่ปรากฎในรายการสนทนาข่าวทางโทรทัศน์ พบว่า เนื้อหาข่าวที่ถูกนำเสนอมากที่สุด คือ ข่าวอาชญากรรม รองลงมา คือ ข่าวการเมือง และข่าวประเภทอื่น ๆ ตามลำดับ