การรับรองฟาร์มปศุสัตว์เศรษฐกิจ BCG model

Script Writer
วันวิภา สุขสวัสดิ์, นิติกรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2024-01
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

       

ปศุสัตว์เป็นหนึ่งในกิจกรรมของภาคเกษตรที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณสูง เนื่องจากในกระบวนการเลี้ยงสัตว์ก่อให้เกิดก๊าซมีเทนซึ่งมาจากการหมักในระบบย่อยอาหารของสัตว์และการจัด การมูลสัตว์ ปัจจุบันทั่วโลกได้ตระหนักถึงผลกระทบของการทำปศุสัตว์ที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม และมีความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมด้านปศุสัตว์ ด้วยการมีนโยบายและข้อกำหนดเฉพาะเพื่อช่วยลดปริมาณรวมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ ในภาคการผลิตปศุสัตว์ให้ลดลง

“เศรษฐกิจ BCG” (Bio-Circular-Green Economy) เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมที่มุ่งเน้นการพัฒนา 3 เศรษฐกิจไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เป็นนโยบายที่ภาครัฐผลักดันการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายมุ่งแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) มียุทธศาสตร์การพัฒนากับ 4 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ เกษตรและอาหาร วัสดุและพลังงาน สุขภาพและการแพทย์ รวมตลอดถึงการท่องเที่ยวและบริการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้นำหลัก “เศรษฐกิจ BCG” มาขับเคลื่อนเพื่อปรับเปลี่ยนภาคการเกษตรไทยไปสู่ 3 สูง ได้แก่ ประสิทธิภาพสูง มาตรฐานสูง และรายได้สูงด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการทำเกษตรสมัยใหม่ด้วยระบบการผลิตที่ยั่งยืน ครอบคลุมทั้งด้านคุณภาพ ความปลอดภัย โภชนาการ สังคม และสิ่งแวดล้อม 

การนำ “โมเดลเศรษฐกิจ BCG” มาประยุกต์ใช้ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในด้านปศุสัตว์นั้น กรมปศุสัตว์ได้จัดโครงการประกวดฟาร์มต้นแบบปศุสัตว์อินทรีย์ BCG model ประจำปี พ.ศ. 2565 ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อเชิดชูและสร้างต้นแบบฟาร์มปศุสัตว์อินทรีย์ที่สามารถนำหลัก BCG model มาประยุกต์ใช้ได้จริงและเกิดผลเป็นรูปธรรม โดยฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่ได้นำหลักเศรษฐกิจ BCG มาประยุกต์ใช้ ประกอบด้วย

1) หลักเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio-Economy) คือ ฟาร์มที่มีการนำความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาใช้ในการทำเกษตรสมัยใหม่ ได้มาตรฐานสอดคล้องตามหลักการปศุสัตว์อินทรีย์ มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตร

2) หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular-Economy) คือ ฟาร์มที่มีการนำทรัพยากรและวัสดุเหลือใช้กลับมาใช้ประโยชน์สูงสุด มีความยั่งยืน พึ่งตนเองได้มาก หมุนเวียนปัจจัยการผลิตได้ดี มีการลดของเสียหรือขยะในฟาร์มให้เป็นศูนย์ (Zero-Waste) และ 

3) หลักเศรษฐกิจสีเขียว (Green-Economy) คือ ฟาร์มที่เน้นความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม เพิ่มพื้นที่สีเขียว มีการประหยัดพลังงาน ลดการปลดปล่อยของเสียจากฟาร์ม รวมทั้งเป็นมิตรกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ฟาร์มที่ผ่านการคัดเลือกให้เป็นฟาร์มต้นแบบในปี 2565 มีจำนวน 13 ฟาร์ม แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ฟาร์มโคนมอินทรีย์ ฟาร์มไข่ไก่อินทรีย์ และแปลงพืชอาหารสัตว์อินทรีย์

อีกหนึ่งลำดับในการนำ “โมเดลเศรษฐกิจ BCG” มาขับเคลื่อนด้านปศุสัตว์ ได้มีการประกาศใช้ “ระเบียบกรมปศุสัตว์ว่าด้วยการขอรับและออกใบรับรองฟาร์มปศุสัตว์เศรษฐกิจ BCG model พ.ศ. 2566” ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลใช้บังคับวันที่ 4 ธันวาคม 2566 เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการขอรับใบรับรองฟาร์มปศุสัตว์เศรษฐกิจ BCG model ให้เป็นไปตามหลักวิชาการและมีมาตรฐานการปฏิบัติงานในแนวทางเดียวกัน การทำ “ปศุสัตว์” หมายความรวมถึงการเลี้ยงสัตว์ไว้สำหรับใช้เป็นอาหาร และ/หรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อให้ได้ผลผลิตอื่น ๆ จากสัตว์เพื่อเป็นอาหาร ผู้ประกอบการฟาร์มปศุสัตว์ที่ประสงค์จะขอรับการรับรองจะต้องมีคุณสมบัติ คือ

1) เป็นฟาร์มที่มีการปรับปรุงฟาร์มให้เป็นไปตามข้อกำหนดการเลี้ยงสัตว์ แบบฟาร์มปศุสัตว์เศรษฐกิจ BCG model

2) ได้รับการรับรอง หรืออยู่ระหว่างกระบวนการขอรับรองมาตรฐานที่กรมปศุสัตว์ให้การรับรอง และ

3) ไม่เป็นผู้ถูกเพิกถอนการรับรอง เว้นแต่เคยถูกเพิกถอนการรับรองมาแล้วเกิน 365 วัน โดยยื่นขอรับรองต่อสำนักงานปศุสัตว์อำเภอหรือสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด ณ ท้องที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ มีการตรวจประเมินโดยคณะผู้ตรวจประเมินซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ และนายสัตวแพทย์ เพื่อให้คณะกรรมการรับรองพิจารณาออกใบรับรองฟาร์มปศุสัตว์เศรษฐกิจ BCG model โดยใบรับรองมีอายุ 3 ปี ผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด เช่น ต้องรักษาไว้ซึ่งระบบการเลี้ยงสัตว์แบบฟาร์มปศุสัตว์เศรษฐกิจ BCG model ตลอดระยะเวลาที่ได้รับการรับรอง หากมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในระบบการผลิตที่สำคัญ เช่น เพิ่มหรือลดจำนวนโรงเรือน พื้นที่เลี้ยง หรือมีการปรับปรุงฟาร์มปศุสัตว์ ให้แจ้งสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดโดยทันที ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถขอพักใช้การรับรองชั่วคราวได้ เมื่อมีกรณีไม่สามารถจัดการให้สอดคล้องกับเกณฑ์ในช่วงระยะเวลาหนึ่งได้ คณะผู้ตรวจประเมินจะตรวจติดตามฟาร์มปศุสัตว์ที่ได้รับการรับรองทุก 10-12 เดือน นับตั้งแต่วันที่ออกใบรับรอง เมื่อมีกรณีไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขมีมาตรการพักใช้การรับรองและการเพิกถอนการรับรอง โดยผู้ประกอบการที่ถูกพักใช้หรือถูกเพิกถอนการรับรอง มีสิทธิอุทธรณ์ต่ออธิบดีกรมปศุสัตว์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ทราบการพักใช้หรือเพิกถอนการรับรอง

การใช้หลักเศรษฐกิจ BCG model มาเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนภาคปศุสัตว์ จะทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนจากการทำฟาร์มแบบดั้งเดิมที่มีเป้าหมายการผลิตสินค้าปศุสัตว์อย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ให้สอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มุ่งเน้นให้เกษตรกรใช้สารจากธรรมชาติ เช่น สมุนไพรไทย เพื่อลดการนำเข้าปัจจัยการผลิตประเภทสารเคมีสังเคราะห์ รวมถึงหลีกเลี่ยงการใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น ปุ๋ยเคมี ยาสัตว์ และนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ที่เลี้ยงในพื้นที่ให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น สามารถกำหนดราคาขายได้ตามคุณภาพของผลผลิต ทำให้การทำปศุสัตว์เป็นอาชีพที่สร้างรายได้สูง ยกระดับมาตรฐานสินค้าให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน ในส่วนของผู้บริโภคจะได้รับอาหารที่ปลอดภัย มีคุณภาพ ปราศจากสารพิษตกค้าง และร่วมรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกับผู้ผลิตสินค้าปศุสัตว์ด้วยเช่นกัน 

ภาพปก