วิชาชีพการสัตวบาล

Script Writer
สุภัทร คำมุงคุณ, วิทยากรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2021-04
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ภาคปศุสัตว์เป็นแหล่งผลิตอาหารโปรตีนสำคัญ โดยผลผลิตส่วนใหญ่ที่นำมาบริโภคอยู่ในรูปของเนื้อสัตว์ นม และไข่ นอกจากนั้นแล้ว การผลิตในภาคปศุสัตว์ยังทำให้เกิดการจ้างงาน สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ผู้ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ รวมถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น ๆ  ซึ่งช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมาประเทศไทยมีการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ไปยังต่างประเทศเป็นจำนวนมาก และมีมูลค่าการส่งออกนับแสนล้านบาท

ทั้งนี้ สินค้าปศุสัตว์ไทยทั้งผลผลิตและผลิตภัณฑ์แปรรูปยังคงเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคมาอย่างต่อเนื่องและยิ่งนับวันผู้บริโภคภายในประเทศและต่างประเทศได้ให้ความสำคัญกับคุณภาพและการรับรองมาตรฐานสุขอนามัยมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของสารเคมีตกค้าง ยาสัตว์ การปนเปื้อนของจุลินทรีย์ รวมถึงการจัดการให้เป็นไปตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ ตลอดจนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ในกระบวนการผลิตจึงจำเป็นจะต้องอาศัยบุคคลที่มีความรู้ มีจรรยาบรรณ และมีความรับผิดชอบต่อสังคม ในการกำกับ ควบคุม ดูแลเพื่อให้ได้อาหารที่ปลอดภัย มีคุณภาพ เป็นไปตามมาตรฐานด้านสุขอนามัย และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค

สำหรับกระบวนการผลิตสัตว์ซึ่งเป็นต้นทางของกระบวนการผลิตอาหารปลอดภัยนั้น ผู้ที่ทำหน้าที่รับผิดชอบในการเลี้ยงและดูแลสัตว์ หรือ “นักสัตวบาล” ถือเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการควบคุมดูแลการผลิตสัตว์ โดยการใช้ความรู้เฉพาะทางด้านการสัตวบาลเข้ามาบริหารจัดการ เพื่อให้สัตว์ที่เลี้ยงมีสุขภาพแข็งแรงเจริญเติบโตได้ดีและปราศจากโรค อันส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลผลิตที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัย และเป็นที่เชื่อมั่นของผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม หากบุคคลที่ไม่มีความรู้ทางการสัตวบาล ไม่มีจรรยาบรรณและความรับผิดชอบต่อสังคม เมื่อมาดำเนินการเลี้ยงและดูแลสัตว์ อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค และสร้างความเสียหายต่อผู้ประกอบกิจการอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ ตลอดจนความเชื่อมั่นต่อประเทศคู่ค้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ

ดังนั้น คณะรัฐมนตรี (ในสมัยของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี) จึงได้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพการสัตวบาล พ.ศ. .... ต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานในการปฏิบัติงานของบุคคลด้านการสัตวบาลให้มีมาตรฐานเดียวกัน และให้มีการจัดตั้งสภาการสัตวบาลขึ้น เพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพการสัตวบาล ควบคุมและกำหนดมาตรฐานการประกอบวิชาชีพการสัตวบาล มิให้มีการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากบุคคลที่ไม่มีความรู้ อันจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อการเลี้ยงและดูแลสัตว์เลี้ยงเพื่อการค้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2564 และที่ประชุมมีมติรับหลักการในวาระที่ 1 พร้อมทั้งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษา จำนวน 25 คน

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพการสัตวบาล พ.ศ. .... ได้กำหนดให้มีการจัดตั้งสภาการสัตวบาลขึ้น มีวัตถุประสงค์เพื่อการควบคุมและกำหนดมาตรฐานการประกอบวิชาชีพ ควบคุมความประพฤติและการดำเนินการของผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวบาลให้ถูกต้องตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพการสัตวบาล ส่งเสริมการศึกษา การวิจัย และการประกอบวิชาชีพการสัตวบาล ตลอดจนการช่วยเหลือ แนะนำ เผยแพร่และให้บริการทางด้านวิชาการแก่สมาชิก รวมทั้งเกษตรกร ประชาชนและองค์กรอื่น ในเรื่องเกี่ยวกับวิชาชีพการสัตวบาล รวมถึงการกำหนดให้มีคณะกรรมการสภาการสัตวบาล เพื่อทำหน้าที่บริหารกิจการสภาการสัตวบาล ตลอดจนกำหนดให้มีการควบคุมการประกอบวิชาชีพการสัตวบาล โดยการขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวบาล อย่างไรก็ตาม ได้มีการกำหนดกรณียกเว้นบางประการให้สามารถประกอบวิชาชีพการสัตวบาลได้โดยไม่ต้องขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตจากสภาการสัตวบาล เช่น กรณีผู้ที่กระทำต่อสัตว์เลี้ยงของตนเองเว้นแต่เป็นการเลี้ยงสัตว์เพื่อการค้าหรือเศรษฐกิจ กรณีนักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือผู้รับการฝึกอบรมซึ่งทำการฝึกหรืออบรมในความควบคุมของสถาบันการศึกษา กรณีผู้ที่อยู่ในภาคราชการซึ่งทำการประกอบอาชีพการสัตวบาลตามหน้าที่และอำนาจหรือตามที่ส่วนราชการมอบหมายเป็นลายลักษณ์อักษร เป็นต้น นอกจากนั้นแล้ว ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้กำหนดบทกำหนดโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติ โดยมีโทษจำคุก หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ

การผลักดันให้มีกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการสัตวบาล จะส่งผลกระทบต่อเรื่องค่าใช้จ่ายในการขอรับใบอนุญาตของผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวบาล ดังนั้น ควรมีการพิจารณาอัตราค่าธรรมเนียมต่าง ๆ อย่างเหมาะสม หากมีการควบคุมการประกอบวิชาชีพการสัตวบาล จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานในการปฏิบัติงานของบุคคลด้านการสัตวบาล ซึ่งส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนผู้บริโภค และการสร้างความเชื่อมั่นในมาตรฐานด้านการปศุสัตว์มากยิ่งขึ้น และอาจส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย
 

ภาพปก