โครงการคนละครึ่ง

Script Writer
อานันท์ เกียรติสารพิภพ, นิติกรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2021-12
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

"โครงการคนละครึ่ง" เป็นหนึ่งในมาตรการที่ดำเนินการโดยรัฐบาล มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ ด้วยการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน และช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ร้านค้ารายย่อยทั่วประเทศ เป็นการสนับสนุนเศรษฐกิจฐานรากและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศทั้งระบบ การลงทะเบียนโครงการคนละครึ่งจะมีด้วยกัน 2 ส่วน คือ การลงทะเบียนรับสิทธิสำหรับประชาชน และการลงทะเบียนโครงการคนละครึ่งสำหรับร้านค้า โดยรัฐบาลได้เข้ามาดำเนินการอุดหนุนการจับจ่ายใช้สอยในส่วนของประชาชนที่ได้รับสิทธิในโครงการคนละครึ่งและให้ร้านค้าที่ต้องการเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ซึ่งลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์คนละครึ่ง โดยรัฐจะช่วยออกค่าใช้จ่ายให้ครึ่งหนึ่งของมูลค่าสินค้า ในขณะที่ผู้ได้รับสิทธิจะต้องจ่ายเพิ่มอีกครึ่งหนึ่งของมูลค่าสินค้า โดยผู้เข้าร่วมโครงการที่มีคุณสมบัติตามที่รัฐบาลกำหนดจะต้องลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ คือ

1) มีบัตรประจำตัวประชาชนและเป็นบุคคลสัญชาติไทย

2) มีอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ณ วันที่ลงทะเบียน

3) ไม่เป็นผู้ได้รับสิทธิโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ (ผ่านบัตรประชาชน) และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้

การลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิโครงการคนละครึ่งสามารถลงทะเบียนได้ 2 ช่องทาง ได้แก่ ลงทะเบียนผ่าน www.คนละครึ่ง.com และลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า "เป๋าตัง" พร้อมผูกกับกระเป๋าสตางค์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีชื่อว่า G-Wallet (กดแถบโครงการคนละครึ่ง) สำหรับการใช้งานสามารถใช้สิทธิผ่านแอปพลิเคชัน "เป๋าตัง" โดยผู้ใช้จะต้องเติมเงินเข้ากระเป๋าสตางค์อิเล็กทรอนิกส์ (G –Wallet) โดยสามารถเติมได้ผ่าน 3 ช่องทาง คือ 1. Mobile Banking 2. QR code Prompt pay 3. ตู้ ATM ทั้งนี้ ประเภทร้านค้าที่ร่วมโครงการคนละครึ่งสามารถเป็นร้านค้าที่เป็นร้านอาหาร เครื่องดื่ม และร้านค้าทั่วไป ยกเว้น สลากกินแบ่งรัฐบาล เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ และการบริการ

ผู้เข้าร่วมโครงการคนละครึ่งจะได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลไม่เกินวันละ 150 บาท ซึ่งปัจจุบันโครงการคนละครึ่งจะดำเนินการจ่ายทั้งโครงการสูงสุดไม่เกิน 3000 บาทต่อคน ตัวอย่างเช่น หากผู้ได้รับสิทธิโครงการคนละครึ่งจะซื้อสินค้าที่มีมูลค่า 200 บาท รัฐจะดำเนินการจ่ายให้ครึ่งหนึ่ง คือ 100 บาท และผู้ที่ได้รับสิทธิโครงการคนละครึ่งจะต้องจ่ายเองอีก 100 บาท แต่หากผู้ได้รับสิทธิโครงการคนละครึ่งจะซื้อสินค้าที่มีมูลค่า 500 บาท รัฐจะดำเนินการจ่ายสูงสุดที่ 150 บาทเท่านั้น โดยอีก 350 บาทผู้ที่ได้รับสิทธิโครงการคนละครึ่งต้องดำเนินการจ่ายเอง ประชาชนที่มีความประสงค์จะซื้อสินค้าที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่งจะต้องสังเกตป้ายโครงการคนละครึ่ง โดยประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการคนละครึ่ง เช่น การดึงร้านค้าอิสระให้มาเป็นร้านที่เข้าร่วมโครงการทำให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น และทำให้ผู้ที่เข้าร่วมโครงการมีรายได้เพิ่มมากขึ้นซึ่งอาจเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง โดยคาดว่าปริมาณเงินในโครงการจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 1.85 เท่า หรือเทียบเท่า 55,500 ล้านบาท

ความคืบหน้าของโครงการคนละครึ่ง แบ่งออกเป็น

1. โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 1 ระยะเวลาโครงการตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ผู้ที่ได้รับสิทธิจะได้รับวงเงินใช้จ่ายจำนวน 3,000 บาท มีประชาชนลงทะเบียน จำนวน 10 ล้านสิทธิ

2. โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 2 ระยะเวลาโครงการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564 ผู้ที่ได้รับสิทธิจะได้วงเงินใช้จ่าย 3,500 บาท มีประชาชนลงทะเบียน จำนวน 5 ล้านสิทธิ (มีเงื่อนไขต่าง ๆ เช่นเดียวกับระยะที่ 1)

3. โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 มีทั้งสิ้น 3 รอบ 
   รอบที่ 1 ระยะเวลาโครงการตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ผู้ที่ได้รับสิทธิจะได้วงเงินใช้จ่าย 1,500 บาท เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนจำนวน 13 ล้านสิทธิ
   รอบที่ 2 ระยะเวลาโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ผู้ที่ได้รับสิทธิจะได้วงเงินใช้จ่าย 1,500 บาท เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนจำนวน 119,974 สิทธิ
   รอบที่ 3 ระยะเวลาโครงการตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ผู้ที่ได้รับสิทธิจะได้วงเงินใช้จ่าย 1,500 บาท เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนจำนวน 119,974 สิทธิ     ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่ไม่เคยลงทะเบียนมาก่อนจะได้รับวงเงินใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 4,500 บาท
        
ปัจจุบันโครงการคนละครึ่งมีผู้ใช้สิทธิสะสม 26.15 ล้านสิทธิ ยอดใช้จ่ายสะสม 172,820 ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนที่ประชาชนจ่ายสะสม 87,808 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่ายสะสม 85,012 ล้านบาท 

ภาพปก