กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี

Script Writer
วิชาญ ทรายอ่อน, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 3 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2021-12
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

"กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี" เป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาและให้โอกาสแก่สตรีที่ขาดโอกาสในสังคม จากปัญหาการถูกเลือกปฏิบัติอันไม่เป็นธรรม และใช้เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนแบบดอกเบี้ยต่ำหรือปลอดดอกเบี้ย เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ พัฒนาอาชีพ สวัสดิภาพ สวัสดิการให้แก่สตรี เครือข่ายสตรี และผู้ด้อยโอกาสอื่น ๆ ในสังคมตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับประเทศทุกพื้นที่ชุมชน เพื่อรวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มคนหรือองค์กร ร่วมกันคิด ร่วมกันทํา และร่วมพัฒนาเป็นพลังทางสังคมที่เข้มแข็ง โดยมีกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังเป็นหน่วยประเมินผลทุนหมุนเวียน 

กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 ดำเนินการในระยะแรกภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี พ.ศ. 2555 ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2555 ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2558 และฉบับที่ 4 พ.ศ. 2558 และให้มีสำนักงานคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติ อยู่ในสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี ต่อมาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีมติเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2557 เห็นชอบให้โอนย้ายกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี และสำนักงานคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติไปสังกัดกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย โดยคณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2558 ให้จัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีขึ้นในกรมการพัฒนาชุมชน โดยได้รับงบประมาณตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 จำนวน 100,000,000 บาท (หนึ่งร้อยล้านบาทถ้วน) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งกองทุน ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2559 อนุมัติให้ควบรวม "กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.)" และ "กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย" เข้าเป็นทุนหมุนเวียนเดียวกัน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2559

ปัจจุบัน พ.ศ. 2564 มีสมาชิกกองทุนประเภทบุคคลธรรมดาทั้งหมด จำนวน 15,012,802 คน และประเภทองค์กรสตรี จำนวน 96,004 องค์กร และผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 มีสมาชิกที่ได้รับผลประโยชน์จากเงินทุนหมุนเวียน 11,074 โครงการ จำนวนเงิน 1,560,449,658 บาท และมีผู้ที่ได้รับประโยชน์ จำนวน 763,392 คน โดยได้รับผลประโยชน์จากเงินทุนอุดหนุน 5,136 โครงการ จำนวนเงิน 251,033,363 บาท และมีผู้ที่ได้รับประโยชน์ จำนวน 410,880 คน

ข้อมูลจากกรมพัฒนาชุมชนรายงานว่า การจัดสรรงบประมาณเงินทุนหมุนเวียนแก่บุคคลธรรมดาและเงินอุดหนุนแก่องค์กรสตรี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ให้กับจังหวัด 76 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร โดยจัดสรรเงินทุนหมุนเวียน จำนวน 1,478,000,000 บาท และเงินอุดหนุนจำนวน 305,000,000 บาท มีหลักเกณฑ์การพิจารณาตามขนาดจังหวัด 3 ขนาด ตามจำนวนประชากรที่มีอยู่ในจังหวัด คือ 
1) จังหวัดขนาดเล็ก ประชากรไม่เกิน 600,000 คน จังหวัดละ 2,000,000 บาท 
2) จังหวัดขนาดกลาง ประชากร 600,001–1,000,000 คน จังหวัดละ 3,000,000 บาท 
3) จังหวัดขนาดใหญ่ ประชากรมากกว่า 1,000,000 คน ขึ้นไป จังหวัดละ 4,000,000 บาท 

สตรีที่มีอายุ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปที่สนใจสามารถสมัครเป็นสมาชิกกองทุนประเภทบุคคลธรรมดา โดยยื่นใบสมัครด้วยตนเอง พร้อมแสดงบัตรประจำตัวประชาชน ณ สำนักงานเลขานุการคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ อำเภอ สำนักงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี หรือสมัครทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่เว็บไซต์ http://womenfund.in.th รวมถึงสามารถสมัครทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนที่รับรองสำเนาถูกต้อง สำหรับประเภทองค์กรสตรี สามารถสมัครด้วยตนเอง ณ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด ส่วนในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครยื่นสมัครได้ที่สำนักงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี กรมการพัฒนาชุมชน 

สมาชิกของกองทุนสามารถขอรับ "เงินทุนหมุนเวียน" โดยสมาชิกประเภทบุคคลธรรมดารวมตัวกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป หรือสมาชิกประเภทองค์กรสตรีต้องมีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ หรือสถานที่ทำงานตั้งอยู่ในท้องที่ที่ยื่นแบบขอรับการสนับสนุนไม่น้อยกว่า 6 เดือน โครงการที่ขอรับสนับสนุนเงินทุนเพื่อพัฒนาอาชีพ การสร้างงาน สร้างรายได้ต้องมีผลการดำเนินงานหรือผ่านการฝึกอาชีพมาก่อน วงเงินโครงการละไม่เกิน 200,000 บาท (สองแสนบาทถ้วน) โดยมีอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.10 ต่อปี กำหนดระยะเวลาการผ่อนชำระคืนไม่เกิน 2 ปี และต้องชำระคืนอย่างน้อยปีละ 2 งวด โดยสมาชิกประเภทบุคคลธรรมดา เขียนโครงการ ประกอบด้วยวัตถุประสงค์ รายละเอียดค่าใช้จ่าย จำนวนเงินงบประมาณและประโยชน์ที่สตรีจะได้รับ และส่งโครงการไปที่สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอตามภูมิลำเนาของสตรี กรณีสมาชิกมีผู้เสนอโครงการอยู่คนละพื้นที่ ให้ยื่นเสนอโครงการตามที่อยู่ของผู้แทนกลุ่มเป็นหลัก ส่วนสมาชิกประเภทองค์กรสตรีให้ยื่นเสนอโครงการตามเขตพื้นที่ตั้งของสำนักงานขององค์กรนั้น โดยการขอกู้ยืมเงินทุนหมุนเวียนของสตรี มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สตรีเกิดพลังในการดูแลช่วยเหลือกันในรูปกลุ่ม และการกู้ยืมเงินกองทุนจึงไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี จึงเป็นแหล่งทุนในการพัฒนาสตรีเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง มีความมั่นคงด้านรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในชุมชนต่อไป

ภาพปก