อาสาสมัครคุมประพฤติ

Script Writer
ศรันยา สีมา, นิติกรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2021-05
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

การก่ออาชญากรรมเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อกฎหมาย เป็นความผิดอาญาที่มีผลกระทบกับการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขของคนในสังคม เมื่อมีอาชญากรรมเกิดขึ้นจึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องนำตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีและลงโทษ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง แต่การนำตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีและลงโทษนี้ กลับทำให้เกิดปัญหานักโทษล้นเรือนจำตามมา และทำให้การแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดให้กลับตัวเป็นคนดีไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ดังนั้น จึงได้มีการนำวิธีการคุมประพฤติซึ่งเป็นมาตรการปฏิบัติต่อผู้กระทำความผิดด้วยวิธีการไม่ควบคุมตัว แต่มีการกำหนดเงื่อนไขให้ผู้กระทำความผิดต้องปฏิบัติตามและเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบในการป้องกันอาชญากรรม บำบัดฟื้นฟูและแก้ไขพฤติกรรมของผู้กระทำความผิด มาใช้แทนการลงโทษจำคุกในเรือนจำโดยมีพนักงานคุมประพฤติซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐคอยดูแลช่วยเหลือผู้กระทำความผิดในการแก้ไขปรับปรุงนิสัยและความประพฤติ

กรมคุมประพฤติมีภารกิจในการดูแลผู้กระทำความผิดจำนวนมาก ทั้งผู้ถูกคุมความประพฤติ ผู้ได้รับการพักการลงโทษหรือลดวันต้องโทษจำคุก เด็กหรือเยาวชนที่ถูกคุมความประพฤติ และผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ทำให้พนักงานคุมประพฤติที่มีอยู่ไม่เพียงพอที่จะดูแลผู้กระทำความผิดทั้งหมดได้ ประกอบกับแนวความคิดที่ว่าสังคมควรมีระบบและกลไกในการป้องกันตนเองจากปัญหาอาชญากรรมและการกระทำผิดซ้ำนอกเหนือไปจากระบบงานยุติธรรมทางอาญา ซึ่งการป้องกันและแก้ไขปัญหาอาชญากรรมที่ได้ผลดี คือ การให้ความรู้แก่ประชาชนในการป้องกันตนเองจากอาชญากรรม และให้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาผู้กระทำความผิดในชุมชน กรมคุมประพฤติจึงได้ริเริ่มดำเนินโครงการ “อาสาสมัครคุมประพฤติ” (อ.ส.ค.) ขึ้นตั้งแต่ปี 2529 โดยให้อาสาสมัครคุมประพฤติมีหน้าที่ในการช่วยเหลือพนักงานคุมประพฤติในการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดแนะนำตักเตือนให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนด สอดส่องเยี่ยมเยียนผู้ถูกคุมความประพฤติ และติดตามผลผู้ผ่านการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. 2545

ต่อมาเมื่อพระราชบัญญัติคุมประพฤติ พ.ศ. 2559 มีผลใช้บังคับ ได้มีการปรับปรุงระเบียบที่เกี่ยวข้องกับอาสาสมัครคุมประพฤติเพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยกำหนดให้อาสาสมัครคุมประพฤติมีบทบาทในการช่วยเหลือพนักงานคุมประพฤติภายใต้การกำกับดูแลของพนักงานคุมประพฤติ 6 ประการ คือ

1 ) แก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด

2) ติดตาม ดูแลช่วยเหลือ สงเคราะห์ ผู้กระทำความผิดหรือผู้ได้รับการสงเคราะห์

3) แสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้กระทำความผิด

4) ส่งเสริมสนับสนุนภารกิจของกรมคุมประพฤติ

5) มีส่วนร่วมในการป้องกันอาชญากรรมและ

6) บทบาทหน้าที่อื่นตามที่อธิบดีกรมคุมประพฤติมอบหมาย

ทั้งนี้ อาสาสมัครคุมประพฤติมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนในการปฏิบัติงาน และมีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์อื่นตามที่กฎหมายกำหนด เช่น การได้รับความช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลจากรัฐและการเสนอชื่อเพื่อขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เป็นต้น

ผู้ที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นอาสาสมัครคุมประพฤติจะต้องมีคุณสมบัติคือ

1) มีอายุตั้งแต่ 21 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป

2) สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นหรือเทียบเท่าขึ้นไป หรือเป็นผู้มีความรู้หรือประสบการณ์ไม่น้อยกว่า 2 ปี ในด้านการแก้ไขฟื้นฟู ด้านการสงเคราะห์ ด้านการพัฒนาสังคมหรือชุมชน ด้านการพัฒนาพฤตินิสัย หรือด้านกระบวนการยุติธรรม หรือเป็นที่ยอมรับจากประชาชน ชุมชน หรือสังคม

3) ประกอบอาชีพโดยสุจริตหรือดำรงชีพโดยสุจริต

4) มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งแน่นอน

5) มีความประพฤติดี ซื่อสัตย์สุจริต มีคุณธรรมและมีความเสียสละเป็นอย่างสูง พร้อมที่จะอุทิศตนเพื่อช่วยเหลือการดำเนินงานคุมประพฤติด้วยความเต็มใจ

6) สุขภาพร่างกายหรือจิตใจไม่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงาน และ

7) ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ คนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ

อาสาสมัครคุมประพฤติมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 6 ปี และอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้ โดยจะมีการประเมินทุก 2 ปี ผู้ผ่านการประเมินจะต้องเป็นผู้มีความประพฤติดี มีความประสงค์ที่จะปฏิบัติหน้าที่อาสาสมัครคุมประพฤติและปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมายทั้งนี้ อาสาสมัครคุมประพฤติอาจถูกถอดถอนได้หากมีเหตุตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ไม่ผ่านการประเมินหรือมีความประพฤติที่ไม่เหมาะสมส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของอาสาสมัครคุมประพฤติและกรมคุมประพฤติ

ผู้สนใจเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครคุมประพฤติสามารถสมัครได้ที่เว็บไซต์ของกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม (http://www.probation.go.th) หรือสายด่วน 1111 ต่อ 78 หรือที่สำนักงานคุมประพฤติทั่วประเทศ ซึ่งเมื่อยื่นใบสมัครแล้วกรมคุมประพฤติจะดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติเพื่อคัดเลือกเป็นอาสาสมัครคุมประพฤติ พร้อมทั้งจัดทำรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกเสนออธิบดีกรมคุมประพฤติแต่งตั้งเป็นอาสาสมัครคุมประพฤติต่อไป

ภาพปก