มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ

Script Writer
พิมพ์ธัญญา ฆ้องเสนาะ, วิทยากรปฏิบัติการ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2021-05
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ในปี 2563 ได้มีการตราพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 เพื่อเร่งให้มีมาตรการทางการเงินในการช่วยเหลือผู้ประกอบวิสาหกิจ เช่น มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อเพิ่มเติม มาตรการชะลอการชำระหนี้  เพื่อป้องกันไม่ให้ภาคธุรกิจวิสาหกิจเกิดสภาวะการขาดสภาพคล่องหรือผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งอาจส่งผลกับฐานะทางการเงินและการทำหน้าที่ด้านสินเชื่อของสถาบันการเงิน และอาจกระทบต่อภาคส่วนอื่น ๆ เนื่องจากภาคธุรกิจวิสาหกิจเป็นส่วนสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศและเป็นแหล่งจ้างงานของระบบเศรษฐกิจ มาตรการดังกล่าวจึงถือเป็นการประคับประคองและพยุงธุรกิจให้ดำเนินกิจการต่อไปได้ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 

อย่างไรก็ตาม มาตรการการให้ความช่วยเหลือทางการเงินของภาครัฐโดยการให้สินเชื่อเพิ่มเติมอย่างเดียวอาจไม่ได้ช่วยเหลือหรือบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบธุรกิจได้อย่างตรงจุดและเพียงพอ  ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจยังไม่สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้อย่างเต็มศักยภาพ เนื่องด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทั้งในประเทศและต่างประเทศมีความรุนแรงและยืดเยื้อยาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ เกิดการระบาดระลอกใหม่และการกลายพันธุ์ รวมถึงขาดความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพของการรักษาและการฉีดวัคซีนป้องกัน ดังนั้น ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจำนวนมากซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัว จึงต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถกลับมาประกอบธุรกิจได้ ภาครัฐจึงกำหนด “มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ” ภายใต้การตราพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 โดยให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงิน ภายในวงเงินไม่เกิน 250,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและโอกาสแก่ผู้ประกอบธุรกิจที่มีศักยภาพสามารถประคับประคองฟื้นฟูธุรกิจให้ดำเนินกิจการต่อไปได้ ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนการเข้าถึงวงเงินสินเชื่อได้มากขึ้นในอัตราที่เหมาะสม เช่น การขยายวงเงินสินเชื่อ คุณสมบัติของกลุ่มผู้มีสิทธิ ระยะเวลาในการขอวงเงินสินเชื่อ การชดเชยหรือค้ำประกันความเสี่ยงที่สูงขึ้น และการกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม เป็นต้น นอกจากนี้ มาตรการดังกล่าวยังได้รับการสนับสนุนจากทางภาครัฐอีกด้วย โดยมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ มีรายละเอียดสามารถสรุปได้ดังนี้ 

1. คุณสมบัติของผู้ประกอบธุรกิจและวงเงินสินเชื่อที่จะได้รับ

1.1 กรณีเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินที่จะให้สินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 และต้องไม่เป็นลูกหนี้ที่ถูกจัดชั้นเป็นสินทรัพย์จัดชั้นต่ำกว่ามาตรฐาน จัดชั้นสงสัย จัดชั้นสงสัยจะสูญ หรือจัดชั้นสูญ หรือ NPL ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 โดยสามารถขอสินเชื่อได้ที่สถาบันการเงินได้โดยตรง ทั้งนี้ วงเงินสินเชื่อที่ผู้ประกอบธุรกิจจะได้รับสูงสุดไม่เกินร้อยละ 30 ของวงเงินสินเชื่อของผู้ประกอบธุรกิจที่มีอยู่กับสถาบันการเงินแต่ละแห่ง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 หรือ ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า แต่ต้องไม่เกิน 150 ล้านบาท

1.2 กรณีเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่เคยมีวงเงินกับสถาบันการเงินแห่งหนึ่งแห่งใดเลย ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 สามารถขอสินเชื่อได้ที่สถาบันการเงินใดก็ได้ ทั้งนี้ จะได้รับวงเงินสินเชื่อสูงสุดรวมกันทุกสถาบันการเงินไม่เกิน 20 ล้านบาท

2. เงื่อนไขมาตรการ

2.1 ผู้ประกอบธุรกิจสามารถขอวงเงินสินเชื่อที่มีอายุไม่เกิน 5 ปี แต่ถ้าหากประสงค์จะขอวงเงินสินเชื่อที่มีระยะเวลายาวนานกว่านั้น ผู้ประกอบธุรกิจต้องตกลงกับสถาบันการเงินเป็นรายกรณีไป 

2.2 ผู้ประกอบธุรกิจจะจ่ายดอกเบี้ยเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปี ตลอดระยะเวลา 5 ปีของสัญญา ยกเว้นในช่วง 2 ปีแรก ผู้ประกอบธุรกิจจะจ่ายดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปี ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนแรกของสัญญา ผู้ประกอบธุรกิจจะไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ

2.3 ผู้ประกอบธุรกิจไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมใด ๆ ให้แก่สถาบันการเงิน ยกเว้นค่าธรรมเนียมการค้ำประกันที่จะจ่ายให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ร้อยละ 1.75 ต่อปีของวงเงินที่ค้ำประกัน โดยที่กระทรวงการคลังจะช่วยจ่ายชดเชยค่าธรรมเนียมการค้ำประกันในปีที่ 3 ถึงปีที่ 7 รวมแล้วร้อยละ 3.5 ของวงเงินที่ค้ำประกัน

ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจที่สนใจและเป็นผู้มีคุณสมบัติตามมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจสามารถติดต่อสถาบันการเงินได้ หรือหากมีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย หมายเลขโทรศัพท์ 02-283-6112 

ภาพปก