สังคมไร้เงินสด

Script Writer
อาริยา สุขโต, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2021-05
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

หากย้อนไปเมื่อ 10-20 ปีที่ผ่านมา การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยถือว่ามีค่อนข้างน้อย ด้วยอินเทอร์เน็ตที่เริ่มเข้ามาในช่วงปี 2538 นั้น ความเร็วของระบบยังรองรับการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านอินเทอร์เน็ตได้ไม่มากนัก รวมถึงมาตรการด้านความปลอดภัยยังไม่รัดกุม การใช้อินเทอร์เน็ตในสมัยนั้นจึงเป็นเรื่องของความบันเทิงเป็นส่วนใหญ่ เมื่อเทียบกับในปัจจุบันที่มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทำให้การใช้งานในสื่อสังคมออนไลน์เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องตามมา และหมายถึงการทำธุรกรรมออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้นด้วย

ดังจะเห็นได้จากจำนวนการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคของประชาชนส่วนใหญ่ที่เริ่มจะมีความคุ้นเคยกับรูปแบบการชำระเงินผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์กันมากขึ้น ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 รูปแบบการใช้ชีวิตแบบปกติใหม่จึงเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตในด้านต่าง ๆ ทำให้เกิดการค้าขายแบบออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบจะช่วยอำนวยความสะดวกและความคล่องตัวในการจับจ่ายมากยิ่งขึ้น เพราะธนบัตรที่ใช้ในชีวิตประจำวันเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถส่งต่อเชื้อโรคจึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัส ด้วยสถานการณ์ดังกล่าวนั้น ทำให้การเข้าสู่ “สังคมไร้เงินสด” เป็นไปอย่างเป็นธรรมชาติและรวดเร็ว ประชาชนเกิดความตื่นตัวเพื่อเรียนรู้การใช้งาน ทำความเข้าใจและปรับตัว อาจจะมีอุปสรรคเกิดขึ้นบ้างกับบางกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงและขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยี ซึ่งจะต้องมีคำแนะนำการใช้งานอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อการปรับเปลี่ยนมาใช้การชำระเงินผ่านระบบแทนเงินสด

แคชเลส โซไซตี้ (Cashless Society) หรือสังคมไร้เงินสด คือ สังคมที่คนไม่ใช้เงินสดในการแลกเปลี่ยนซื้อขายและจ่ายเงินสดกันอีกต่อไป แต่เปลี่ยนมาใช้การจ่ายเงินด้วยระบบรูปแบบต่าง ๆ แทน เช่น การจ่ายเงินผ่าน QR Code จ่ายเงินผ่าน e-Wallet, การโอนเงินผ่านแอปพลิเคชันของธนาคาร, การโอนเงินระบบ PromptPay, การชำระค่าสินค้าและบริการผ่านบัตรเดบิตหรือบัตรเครดิต ประเทศไทยเข้าสู่ระบบ Mobile Banking ตั้งแต่ปี 2560 โดยธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นผู้ประสานความร่วมมือระหว่างสถาบันการเงินของไทยและระหว่างประเทศ เพื่อใช้ระบบการชำระเงินแบบ QR Code ที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลกผ่านระบบ Mobile Banking เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของภาครัฐที่มุ่งให้ประเทศไทยก้าวไปสู่สังคมไร้เงินสด หรือ แคชเลส โซไซตี้ โดยในช่วงเวลาดังกล่าวหลายประเทศเริ่มมีการให้บริการชำระเงินผ่านมา QR Code ระยะหนึ่งแล้ว หลังจากนั้นประเทศไทยจึงเริ่มมีการใช้งานอย่างเต็มรูปแบบและเริ่มมีความเข้าใจการใช้งานมากขึ้นตามลำดับ 

แต่ในปัจจุบันด้วยสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 นับเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการปรับตัวของคนอีกกลุ่มที่ไม่ได้สัมผัสเทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน ต้องเริ่มที่จะเรียนรู้การใช้งานกันอย่างจริงจัง เมื่อภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ผ่านโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เราชนะ คนละครึ่ง เรารักกัน ซึ่งการชำระเงินด้วย QR Code ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Common Quick Response code-based payments คือ การชำระเงินผ่านระบบโทรศัพท์สมาร์ตโฟน ที่ผู้ใช้บริการแค่เพียงสแกน QR Code ของทางร้านค้า หรือผู้ให้บริการ ระบบจะทำการชำระเงินโดยหักผ่านบัญชีธนาคารและโอนเงินค่าสินค้าและบริการไปให้กับบัญชีของผู้ค้าทันที นั่นหมายความว่า ด้วยระบบนี้จะทำให้การใช้เงินสดในชีวิตประจำวันลดลงซึ่งเข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบันที่ลดการสัมผัส และใช้รูปแบบธุรกิจออนไลน์เพื่อซื้อสินค้าโดยไม่ต้องเดินทางเพื่อเสี่ยงกับการติดเชื้อโรค

ทั้งนี้ ในความสะดวกสบายแม้จะช่วยลดความเสี่ยงจากการสัมผัสเชื้อโรค แต่ก็มีข้อพึงระวังในการใช้งานเพื่อความปลอดภัยจากมิจฉาชีพ เนื่องด้วยการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ไม่อาจจะรับประกันด้านความปลอดภัยได้ทั้งหมดแต่สามารถลดความเสี่ยงให้น้อยที่สุดได้ สำหรับในปัจจุบันการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ถือว่ามีความปลอดภัยมากกว่าการถือเงินสด เนื่องจากการถือเงินสดมีความเสี่ยงค่อนข้างมากจากการถูกโจรกรรม ในขณะที่การทำธุรกรรมออนไลน์จะมีระบบการรองรับมากมายขึ้นในการยืนยันการทำธุรกรรมนั้น ๆ ซึ่งมีการใช้กันมานานและพัฒนาระบบเพื่อลดช่องว่างและเพิ่มความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น อีกทั้งผู้ใช้มีความเข้าใจในการใช้งานเพิ่มมากขึ้น โดยจะใช้รูปแบบการยืนยันตัวตนอย่างอื่นแทน เช่น การใช้ลายนิ้วมือ ตา เสียง เฉพาะของบุคคล หรือการใช้ OTP หรือ One Time Password เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ได้

สังคมไร้เงินสดเป็นเรื่องที่สะดวกสบาย แต่การพัฒนาในเรื่องนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อคนจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะร้านค้าต่าง ๆ ที่อาจจะต้องมีการเปิดกว้างด้านการชำระเงินด้วยช่องทางอื่นมากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการซื้อขายของตนเองไม่ว่าจะผู้ค้ารายใหญ่หรือรายย่อย อย่างไรก็ตาม ยังปรากฏจำนวนผู้ที่มีความสับสนในการใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับสังคมไร้เงินสดอยู่บ้าง แต่ก็เท่ากับว่าประเทศไทยสามารถใช้โอกาสนี้ในการปรับปรุงระบบธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อทำให้สังคมไร้เงินสดกระจายไปได้อย่างทั่วถึง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะส่งผลดีกับคนในประเทศในระยะยาว เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการใช้เทคโนโลยีอย่างชาญฉลาดและก้าวเข้าสู่ความเป็นพลเมืองในยุคดิจิทัลได้อย่างเต็มภาคภูมิ

ภาพปก