เครื่องแบบสมาชิกรัฐสภา

Script Writer
สุภัทร คำมุงคุณ, วิทยากรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2021-05
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ในอดีตการกำหนดเครื่องแบบอันหมายถึงเครื่องแต่งกาย รวมทั้งเครื่องหมายต่าง ๆ ตลอดจนสิ่งประกอบเครื่องแต่งกายสำหรับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น แต่เดิมแรกเริ่มได้มีการใช้บังคับตามพระราชบัญญัติเพิ่มเติมพระราชกำหนดเครื่องแต่งตัวข้าราชการพลเรือน และเพิ่มเติมพระราชกำหนดเครื่องแต่งกายผู้มีตำแหน่งเฝ้า พุทธศักราช 2475 ต่อมาได้มีการยกเลิกพระราชบัญญัติดังกล่าวเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด เพื่อกำหนดเครื่องแบบสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสียใหม่ และภายหลังได้ประกาศใช้บังคับพระราชบัญญัติเครื่องแบบสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พุทธศักราช 2482 ซึ่งต่อมาได้มีการยกเลิกและตรากฎหมายว่าด้วยเครื่องแบบสมาชิกตามมาอีกหลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติเครื่องแบบสมาชิกพฤฒสภาและสมาชิกสภาผู้แทน พ.ศ. 2490 พระราชบัญญัติเครื่องแบบสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2494 พระราชบัญญัติเครื่องแบบสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทน พ.ศ. 2511 เป็นต้น เพื่อให้สอดคล้องกับสมาชิกสภาที่ทำหน้าที่ทางนิติบัญญัติตามบทบัญญัติของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร 
หรือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ปัจจุบันเครื่องแต่งกายรวมทั้งเครื่องหมายต่าง ๆ ตลอดจนสิ่งประกอบเครื่องแต่งกายอย่างอื่นสำหรับสมาชิกรัฐสภาหรืออดีตสมาชิกรัฐสภา กำหนดให้ใช้บังคับตามพระราชบัญญัติเครื่องแบบสมาชิกรัฐสภา พ.ศ. 2516 และพระราชบัญญัติเครื่องแบบสมาชิกรัฐสภา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2526 โดยมีรายละเอียดของลักษณะ ชนิด และประเภทของเครื่องแบบ รวมถึงระเบียบในการแต่งเครื่องแบบ ตลอดจนผู้มีสิทธิแต่งเครื่องแบบ กำหนดให้เป็นไปตามข้อบังคับของรัฐสภาว่าด้วยเครื่องแบบสมาชิกรัฐสภา พ.ศ. 2526 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม จนถึงฉบับที่ 4 พ.ศ. 2553

ทั้งนี้ ตามข้อบังคับของรัฐสภาว่าด้วยเครื่องแบบสมาชิกรัฐสภา พ.ศ. 2526 กำหนดให้เครื่องแบบสมาชิกรัฐสภามี 4 ชนิด คือ (1) เครื่องแบบปกติ (2) เครื่องแบบครึ่งยศ (3) เครื่องแบบเต็มยศ และ (4) เครื่องแบบสโมสร ซึ่งการแต่งเครื่องแบบสมาชิกรัฐสภาดังกล่าว กำหนดให้แต่งตามหมายกำหนดการ สำหรับเครื่องแบบปกติตามข้อบังคับของรัฐสภาว่าด้วยเครื่องแบบสมาชิก (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2553 ได้จำแนกย่อยออกเป็น 4 แบบ โดยกำหนดให้ใช้เครื่องแบบปกติในแต่ละโอกาส ดังนี้ 

ก. เครื่องแบบปกติขาว ให้ใช้ในโอกาสไปงานพิธีหรือตามหมายกำหนดการ 
ข. เครื่องแบบปกติกากีคอพับ ให้ใช้เครื่องแบบนี้ได้ตามปกติและในเวลาไปราชการหรือตรวจราชการ 
ค. เครื่องแบบปกติกากีแกมเขียว ให้ใช้เป็นเครื่องแบบสนามในโอกาสตรวจการเฉพาะกิจ 
ง. เครื่องแบบปกติกากีตรวจการ  ให้ใช้แทนเครื่องแบบปกติกากีคอพับได้ในโอกาสอันสมควร

ตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องแบบสมาชิกรัฐสภา ยังได้กำหนดให้อดีตสมาชิกรัฐสภาสามารถแต่งเครื่องแบบเช่นเดียวกับสมาชิกรัฐสภาได้ โดยตามข้อบังคับของรัฐสภาฯ กำหนดให้การแต่งเครื่องแบบของอดีตสมาชิกรัฐสภา ต้องติดเครื่องหมายอักษร นก (ย่อมาจาก “นอกราชการ”) ที่อกเสื้อเบื้องขวา 

อย่างไรก็ตาม อดีตสมาชิกรัฐสภาที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ ไม่มีสิทธิแต่งเครื่องแบบสมาชิกรัฐสภา คือ (1) เป็นบุคคลไร้ความสามารถหรือบุคคลเสมือนไร้ความสามารถ (2) เป็นบุคคลล้มละลายซึ่งศาลยังไม่สั่งให้พ้นจากคดี (3) ถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุด หรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ (4) เป็นบุคคลที่วุฒิสภาหรือสภาผู้แทนราษฎรมีมติให้พ้นจากสมาชิกภาพ และ (5) เป็นบุคคลที่ประพฤติตนในทางที่อาจเป็นการเสื่อมเสียเกียรติของรัฐสภาและประธานรัฐสภาสั่งให้ผู้นั้นงดแต่งเครื่องแบบสำหรับอดีตสมาชิกรัฐสภา ทั้งนี้ หากผู้ที่ไม่มีสิทธิตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้แต่งเครื่องแบบสมาชิกรัฐสภา เพื่อให้ผู้อื่นเชื่อว่าตนเป็นสมาชิกรัฐสภาหรืออดีตสมาชิกรัฐสภา มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

การกำหนดให้มีการใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยเครื่องแบบของสมาชิกรัฐสภา จะทำให้เกิดความเหมาะสมกับการประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์มีความสง่างาม สมเกียรติ และสามารถใช้กับส่วนราชการ พิธีการและการปฏิบัติงานต่าง ๆ ในอำนาจหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา ตลอดจนการเยี่ยมเยียนประชาชนในโอกาสต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสมกับภารกิจและสภาพภูมิอากาศ ประกอบกับสมาชิกรัฐสภารวมถึงอดีตสมาชิกรัฐสภา เป็นบุคคลที่ได้อุทิศตนเพื่อทำประโยชน์ให้แก่ประชาชนและประเทศชาติ ดังนั้น การได้รับเชิดชูเกียรติโดยให้แต่งเครื่องแบบสมาชิกรัฐสภาพร้อมทั้งเครื่องหมาย หรือสิ่งประกอบเครื่องแต่งกายอย่างอื่น จึงถือเป็นความภาคภูมิใจและเป็นเกียรติต่อสมาชิกรัฐสภา อดีตสมาชิกรัฐสภาและวงศ์ตระกูลสืบต่อไป

ภาพปก