การประมงที่ผิดกฎหมาย

Script Writer
วิริยะ คล้ายแดง, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2021-09
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

แหล่งน้ำและทะเลไทยเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์และมีความสำคัญต่อประเทศ ในสมัยก่อนเครื่องมือการทำประมงเป็นแบบพื้นบ้านจึงจับสัตว์น้ำได้ไม่มาก แต่ในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา เริ่มใช้เครื่องมือประมงอวนลากที่ทันสมัย มีการขยายพื้นที่ทำการประมงห่างฝั่งออกไป และทำการประมงในทะเลหลวงอย่างเสรี ทำให้จับสัตว์น้ำได้เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าสัตว์น้ำในลำดับต้นของโลก โดยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าในหมวดสินค้ากุ้ง ปลาหมึก ปลาสดแช่แข็ง รวมทั้งผลิตภัณฑ์ทูน่ามากกว่าสามแสนล้านบาท ถือว่าเป็นสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่ทำรายได้สูงเข้าสู่ประเทศ 

ก่อนปี 2558 พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 ถือเป็นกฎหมายสำคัญที่ใช้กำกับดูแลและควบคุมในเรื่องการทำประมงของไทย ตั้งแต่เรื่องเขตการประมงและเครื่องมือการประมง ทั้งประมงน้ำจืดและประมงทะเล แต่ด้วยความที่กฎหมายฉบับนี้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน บทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปเนื่องจากเทคโนโลยีด้านการประมงได้พัฒนาเป็นอย่างมาก และทรัพยากรสัตว์น้ำมีจำกัด ส่งผลให้สัตว์น้ำลดจำนวนลง เกิดปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และปัญหาแรงงานประมงผิดกฎหมาย จึงได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 ให้มีความเหมาะสมทันต่อสถานการณ์และมีประสิทธิภาพมากขึ้น การแก้ไขเพิ่มเติมครั้งแรกคือพระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2496 การแก้ไขเพิ่มเติมครั้งต่อมาคือพระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2528 จนถึงปี 2558 จึงได้ตรากฎหมายการประมงฉบับใหม่ คือพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2558

ส่วนทางด้านผลิตภัณฑ์ประมงไทยที่ส่งออกไปต่างประเทศ ได้รับความนิยมอย่างสูงเพราะว่าผลิตภัณฑ์ประมงไทยมีคุณภาพ ความปลอดภัย และราคาถูก แต่คุณสมบัติเหล่านี้ถือว่ายังไม่เพียงพอสำหรับผู้ซื้อจากกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปที่ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและด้านสังคมเกี่ยวกับแรงงานประมงเข้ามาร่วมด้วย ดังนั้นสหภาพยุโรปจึงได้ตรวจสอบและเฝ้าระวังสินค้าผลิตภัณฑ์ประมงจากประเทศไทยว่า มีการทำประมงที่ผิดกฎหมายและไม่ถูกต้องตามกฎเกณฑ์หรือไม่ โดยเรียกกฎเกณฑ์นี้ว่า การประมง IUU ซึ่งหมายถึง การทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ซึ่งประมงไทยในขณะนั้นยังมีการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งอาจมีการใช้แรงงานผิดกฎหมายในอุตสาหกรรมประมงร่วมด้วย จนในที่สุดเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2558 สหภาพยุโรปจึงได้ประกาศเตือนประมงไทยในระดับสถานะใบเหลืองว่า ประเทศไทยมีมาตรการต่อต้านการทำประมง IUU ที่ไม่เพียงพอ และหากไม่สามารถแก้ไขปัญหาการทำประมง IUU ได้ ประมงไทยอาจจะได้รับสถานะใบแดง ซึ่งหมายถึงประเทศไทยจะไม่สามารถส่งออกสินค้าประมงไปยังสหภาพยุโรปได้อีกต่อไป ช่วงเวลานั้นภาพลักษณ์ด้านสินค้าประมงไทยอยู่ในด้านลบ ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าประมงไทยเป็นอย่างมาก และในภาพรวมประเทศไทยต้องสูญเสียมูลค่าการส่งออกนับแสนล้านผู้ประกอบอาชีพทำการประมงทั้งระบบประสบกับวิกฤต ทั้งเจ้าของกิจการเรือประมงในประเทศ แรงงานประมง และผู้ประกอบการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ประมง

แนวทางหนึ่งที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาการทำประมง IUU คือ การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายการประมงเพื่อต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมายและสามารถควบคุมการประมงให้ครอบคลุมทุกด้าน รวมถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมด้วย แต่เนื่องจากสถานการณ์ปัญหาการทำประมง IUU ครั้งนี้ มีความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหา รัฐบาลในขณะนั้นจึงได้ตราพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 13 พฤศจิกายน 2558 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อจัดระเบียบการประมงในประเทศไทยและในน่านน้ำทั่วไป ป้องกันมิให้มีการทำประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย รักษาทรัพยากรสัตว์น้ำให้อยู่ในภาวะที่เป็นแหล่งอาหารของมนุษยชาติอย่างยั่งยืน และรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมให้ดำรงอยู่ในสภาพที่เหมาะสมตามแนวทางและมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับนับถือในนานาประเทศ รวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนประมงท้องถิ่น คุ้มครองสวัสดิภาพของคนประจำเรือและป้องกันการใช้แรงงานผิดกฎหมายในภาคการประมง

สองปีต่อมาพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมอีกครั้ง เนื่องจากมีบทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องกับสภาพการทำการประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ การกำหนดหลักเกณฑ์ในการควบคุมและเฝ้าระวังการทำการประมง การขนถ่ายสัตว์น้ำ การนำเข้าสัตว์น้ำ ซึ่งยังไม่เพียงพอในการป้องกันมิให้มีการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย รัฐบาลจึงได้ตราพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 28 มิถุนายน 2560 ซึ่งมีผลเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์และบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้อยู่ในภาวะที่เหมาะสม และสามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งได้กำหนดให้มีคณะกรรมการมาตรการทางปกครอง กำหนดหลักเกณฑ์ในการคุ้มครองการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และปรับปรุงบทกำหนดโทษให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น 

ภายหลังการประกาศใช้พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 สามารถบรรเทาและแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย และการทำประมง IUU ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงทำให้สหภาพยุโรปได้ประกาศปลดสถานะใบเหลืองการทำประมง IUU ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562 เพื่อแสดงการยอมรับต่อความก้าวหน้าของการแก้ไขปัญหาการทำประมง IUU  อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศไทยจะได้รับการปลดสถานะใบเหลืองการทำประมง IUU จากสหภาพยุโรปแล้ว แต่การพัฒนากฎหมายการประมงและการบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพควรที่จะดำเนินการต่อไป เพื่อบริหารจัดการการทำประมงที่สุจริต อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และใช้ประโยชน์ทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างเหมาะสมยั่งยืนตลอดไป

ภาพปก