บทบาทของไทยกับการแก้ไขวิกฤตในเมียนมา

Script Writer
ยุทธพงศ์ ปิ่นอนงค์, นิติกรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2021-09
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาเป็นประเทศหนึ่งในสมาชิกอาเซียน และเป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติหลากหลายประเภทที่สำคัญมากต่อการลงทุนของต่างประเทศ แต่เนื่องจากในช่วงต้นปีพุทธศักราช 2564 เป็นต้นมา รัฐบาลเมียนมาได้ถูกทำการรัฐประหาร ส่งผลทำให้หลาย ๆ ประเทศในองค์กรระหว่างประเทศต่างกังวลในเรื่องการแก้ไขวิกฤตการเมืองในเมียนมา 

ภายหลังรัฐประหารเพียงหนึ่งเดือน องค์กรอาเซียนได้เพียงออกแถลงการณ์ของประธาน 2 ฉบับ และมีการประชุมอย่างไม่เป็นทางการเพียงครั้งเดียว ในขณะที่สถานการณ์ในเมียนมายังคงมีความไม่สงบอยู่อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และผู้ชุมนุมถูกจับกุมหลายพันคน โดยสถานการณ์ไม่มีท่าทีว่าจะยุติลงแต่อย่างใด

จากวิกฤตการณ์ทางการเมืองในเมียนมาได้ทำให้ประเทศสมาชิกอาเซียนแตกออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ไม่ยอมรับการรัฐประหารและเรียกร้องให้เมียนมาคืนสู่ความเป็นประชาธิปไตย ระงับความรุนแรงและปล่อยตัวนักโทษการเมืองรวมทั้ง ออง ซาน ซู จี ประกอบไปด้วย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง ได้แก่ ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม รวมไปถึงประเทศมหาอำนาจอย่าง จีนและรัสเซีย ต่างเลือกที่จะไม่แสดงจุดยืนที่ชัดเจนต่อวิกฤตการณ์ในเมียนมา โดยอ้างว่าไม่ต้องการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศเพื่อนบ้าน

อินโดนีเซียเป็นสมาชิกประเทศแรกที่แสดงความกระตือรือร้นในการแสวงหาทางออกให้กับวิกฤตการณ์ครั้งนี้มากที่สุด โดยเร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ได้เสนอให้อาเซียนเปิดประชุมสมัยพิเศษเพื่อพิจารณาวิกฤตการณ์เมียนมา หารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม ลาว และกัมพูชา เพื่อรับทราบท่าทีและความเห็นของสมาชิกอาเซียน ก่อนที่จะมีการสื่อสารกับรัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สหรัฐฯ จีน รัสเซีย อังกฤษ และอินเดีย รวมถึงทูตพิเศษสหประชาชาติและเลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ

ทั้งนี้ เร็ตโน มีแผนการที่จะเดินทางไปเยือนรัฐบาลเมียนมาเพื่อพบกับผู้แทนรัฐบาลทหารและฝ่ายต่าง ๆ แต่ต้องยกเลิกกลางคันเนื่องจากกองทัพเมียนมาไม่พอใจการเคลื่อนไหวดังกล่าว และไม่ต้องการให้ไปเยือนเร็วนัก ด้วยเหตุนี้รัฐบาลไทยจึงพยายามหาทางออกเพื่อรักษาภาพลักษณ์ของกลุ่มอาเซียนด้วยการเชิญ วันนะ หม่อง ลวิน รัฐมนตรีต่างประเทศของสภาบริหารแห่งรัฐของเมียนมา มาเยือนกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 เพื่อรับทราบสถานการณ์และเพื่อให้ เร็ตโน ได้พบกับผู้แทนรัฐบาลทหารเป็นครั้งแรกและเกิดภาพของการหารือสามฝ่ายขึ้นอย่างไม่เป็นทางการ

นอกจากนี้หลาย ๆ ฝ่ายในประเทศสมาชิกอาเซียนต่างเห็นว่าอินโดนีเซียแสดงบทบาทที่เหมาะสมในการเป็นผู้นำที่แท้จริงของอาเซียนในการเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ในเมียนมา รวมทั้งรัฐบาลไทย เป็นผู้ประสานงานอยู่เบื้องหลังวิกฤตเมียนมา ซึ่งเห็นว่าน่าจะเหมาะสมที่สุดด้วยเช่นกัน

ถึงแม้ผลการเจรจายังไม่มีความคืบหน้าและต้องมีการเจรจากันต่อไปก็ตาม แต่สมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่เห็นสอดคล้องตรงกันว่า การคว่ำบาตรและโดดเดี่ยวรัฐบาลเมียนมาไม่ใช่ทางออกที่ดี เนื่องจากรัฐบาลเมียนมามีความสัมพันธ์ที่ดีทางเศรษฐกิจกับหลายประเทศในกลุ่มอาเซียน แม้จะมีแรงกดดันจากประเทศตะวันตกจากมาตรการคว่ำบาตรของสหประชาชาติในทางเศรษฐกิจนำโดยสหรัฐอเมริกา แคนาดา และสหราชอาณาจักร ที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ อาจจะไม่สามารถหยุดยั้งวิกฤตในเมียนมาได้แต่อย่างใด 

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น หากโดยความร่วมมือของประเทศสมาชิกอาเซียนและการสนับสนุนจากจีนและรัสเซียแล้ว ย่อมส่งเสริมให้เกิดการใช้มาตรการสำคัญหาทางออกในเชิงสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการเจรจาเพื่อหาทางออกร่วมกัน มากกว่าจะใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อรัฐบาลเมียนมาอย่างยิ่ง

ภาพปก