โครงการ Smart Safety Zone 4.0

Script Writer
สุภาพิชญ์ ถิระวัฒน์, นิติกรชำนาญการ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2022-01
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

โครงการ Smart Safety Zone 4.0 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นโครงการตามนโยบายของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเพื่อขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์ชาติ ด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และตัวชี้วัดสากล "World Internal Security & Police Index หรือ WISPI" โดยการจัดให้มีการป้องกันอาชญากรรมเชิงรุกนำการปราบปราม ซึ่งแนวคิดของโครงการดังกล่าวเกิดจากการผสมผสานแนวคิดเรื่องเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City เข้ากับแนวคิดที่จะสร้างพื้นที่ปลอดภัย หรือ Safety Zone ให้เกิดขึ้น โดยอาศัยความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของทุกคน โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ การพัฒนารูปแบบวิธีการป้องกันอาชญากรรมเชิงรุกโดยใช้นวัตกรรมและยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยดำเนินการจัดให้มีโครงการนำร่องขึ้นก่อน หลังจากนั้นจึงขยายการดำเนินการต่อไปจนครบทุกจังหวัดและพื้นที่สถานีตำรวจทุกแห่ง เพื่อสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้แก่พี่น้องประชาชนทั่วประเทศ

แนวทางในการดำเนินการโครงการ Smart Safety Zone 4.0 เริ่มจากการจัดตั้งภาคีเครือข่ายป้องกันอาชญากรรมในพื้นที่ หรือ "Big 6" ซึ่งประกอบด้วย 1. ตำรวจ 2. ภาคประชาชน 3. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4. ภาคธุรกิจ 5. หน่วยงานภาครัฐ หรือหน่วยงานไม่หวังผลกำไรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาภายในชุมชน 6. สื่อมวลชนทุกแขนง รวมถึงสื่อมวลชนส่วนกลางที่อยู่ในพื้นที่

จากนั้นเปิดโอกาสให้ภาคีเครือข่ายได้เข้ามามีส่วนร่วมในการวิเคราะห์สภาพพื้นที่และคัดเลือกพื้นที่ร่วมโครงการ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมาจากการสะท้อนความต้องการของประชาชนที่ต้องการให้แก้ไขอาชญากรรมในพื้นที่นั้น ๆ อย่างแท้จริง โดยมีแนวทางในการคัดเลือกพื้นที่ในการดำเนินโครงการจาก 4 ปัจจัยสำคัญ คือ 

1. Risk คือ เป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงในการเกิดอาชญากรรมสูง มีสถิติการเกิดอาชญากรรมในช่วงที่ผ่านมามากกว่าพื้นที่อื่น และประชาชนต้องการให้มีการควบคุมอาชญากรรมในพื้นที่ 
2. Landmark คือ เป็นสถานที่ที่มีร้านค้า สถานบริการ อาคารสำนักงานของหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถานศึกษา 
3. Economic คือ เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ซึ่งหากเกิดอาชญากรรมในพื้นที่จะกระทบกับภาพลักษณ์ของประเทศ และ 
4. Size คือ มีพื้นที่ไม่เกิน 2 ตารางกิโลเมตร เพื่อให้สามารถระดมสรรพกำลัง เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเข้าไปควบคุมปัญหาอาชญากรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

เมื่อคัดเลือกพื้นที่เข้าร่วมโครงการได้แล้ว สถานีตำรวจทุกสถานีที่ร่วมโครงการจะปฏิบัติตามแนวทางการขับเคลื่อนงานป้องกันปราบปรามอาชญากรรมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2564-2565 พร้อมทั้งดำเนินการและนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมต่าง ๆ ที่ทันสมัยมาใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมในพื้นที่และเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันอาชญากรรม เช่น สำรวจกล้อง CCTV ในพื้นที่ ปรับมุมกล้อง และบูรณาการการใช้งานกล้องร่วมกันพร้อมทั้งมีการติดตั้งเพิ่มเติม มีการติดตั้งกล้องตรวจจับใบหน้า กล้องตรวจจับป้ายทะเบียนรถ ติดตั้งเสาสัญญาณ SOS เพื่อประชาชนสามารถแจ้งเหตุด่วนได้ทันที จัดทำห้องปฏิบัติการซึ่งเชื่อมสัญญาณจากกล้องของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หน่วยงานราชการและเอกชนมายังห้องปฏิบัติการ และนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์เพื่อควบคุมสั่งการได้ตลอด 24 ชั่วโมง อีกทั้งมีการใช้แอปพลิเคชันต่าง ๆ มาช่วยเพื่อความรวดเร็วในการสื่อสาร เช่น แอปพลิเคชัน Police 4.0 ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สามารถบันทึกการลงชื่อเข้าเวร การตรวจตู้แดงผ่านการสแกน QR code และการบันทึกการตั้งด่านในแต่ละวัน รวมทั้ง
แอปพลิเคชัน Police i lert u ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันสำหรับประชาชนที่สามารถแจ้งขอความช่วยเหลือไปยังตำรวจโดยตรงผ่านมือถือสมาร์ทโฟน เป็นต้น

นอกจากนั้น สถานีตำรวจที่เข้าร่วมโครงการจะประสานความร่วมมือกับหน่วยงานในท้องที่เพื่อร่วมกันปรับภูมิทัศน์ของพื้นที่เสี่ยงให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย รวมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมกับภาคีเครือข่าย โดยเฉพาะภาคประชาชนเพื่อช่วยระวังป้องกันอาชญากรรม สร้างความเป็นเจ้าของพื้นที่ร่วมกัน ซึ่งจะทำให้การดำเนินโครงการดังกล่าวสามารถเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จากที่ผ่านมาในระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายน 2564 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินการโครงการนำร่องในระยะแรกกับสถานีตำรวจที่ได้รับการคัดเลือกจากทั่วประเทศจำนวนทั้งสิ้น 15 สถานี ได้แก่ 

1. สถานีตำรวจนครบาลห้วยขวาง 
2. สถานีตำรวจนครบาลลุมพินี 
3. สถานีตำรวจนครบาลภาษีเจริญ ซึ่งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 
4. สถานีตำรวจภูธรเมืองสมุทรปราการ 
5. สถานีตำรวจภูธรปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี 
6. สถานีตำรวจภูธรเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี 
7. สถานีตำรวจภูธรเมืองระยอง 
8. สถานีตำรวจภูธรเมืองปราจีนบุรี 
9. สถานีตำรวจภูธรปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา 
10. สถานีตำรวจภูธรเมืองอุดรธานี 
11.สถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงใหม่ 
12. สถานีตำรวจภูธรเมืองพิษณุโลก 
13. สถานีตำรวจภูธรเมืองราชบุรี 
14. สถานีตำรวจภูธรเมืองภูเก็ต 
15. สถานีตำรวจภูธรหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 

โดยสถานีตำรวจนำร่องทั้ง 15 สถานีนี้ ทำหน้าที่เป็น Sand Box เพื่อทดลองหารูปแบบและบทสรุปที่เหมาะสมในการจัดทำโครงการดังกล่าวในระยะที่สอง ซึ่งการดำเนินโครงการในโครงการนำร่องทั้ง 15 สถานีนั้น ที่ผ่านมาได้ผลดีและได้รับการตอบรับจากประชาชนดี ปัจจุบันจึงได้มีการขยายการดำเนินโครงการในระยะที่สองไปในทุกจังหวัด

สำหรับในปีงบประมาณ 2565 ซึ่งเป็นการดำเนินการในระยะที่สองนั้น ได้มีสถานีตำรวจที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มอีก 85 สถานี ซึ่งจะดำเนินการตามแนวทางเดียวกันกับโครงการนำร่องด้วยเช่นกัน นอกจากนั้น เมื่อสถานีตำรวจที่เข้าร่วมโครงการได้ดำเนินการทำให้พื้นที่ Safety Zone ที่กำหนดไว้มีความปลอดภัยแล้ว ทุกสถานีตำรวจจะดำเนินการให้พื้นที่อื่น ๆ ภายนอก Safety Zone มีความปลอดภัยในระดับใกล้เคียงกันด้วย โดยใช้แนวทางในการดำเนินการเช่นเดียวกัน และปรับการดำเนินการตามสภาพพื้นที่ที่แตกต่างกันไป 

โครงการ Smart Safety Zone 4.0 นับเป็นอีกหนึ่งโครงการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้พี่น้องประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และชุมชนมีความอุ่นใจและเชื่อมั่นในเรื่องของความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

ภาพปก