ปัญหาวาดา (WADA) กับการกีฬาไทย

Script Writer
นฐมลย์ พงษ์รอจน์, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2022-01
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

เมื่อหลายเดือนที่ผ่านมาได้เกิดปัญหาอันเป็นที่โจษขานกันอย่างกว้างขวางในสังคมขึ้นกับวงการกีฬาของไทย กล่าวคือ นักกีฬาไทยที่ไปแข่งขันยังต่างประเทศไม่สามารถใช้ธงชาติไทยเป็นสัญลักษณ์ในการแข่งขันได้ รวมถึงกรณีที่นักกีฬาไทยได้เหรียญรางวัลในการแข่งขันก็ไม่สามารถเชิญธงชาติไทยขึ้นสู่ยอดเสาเพื่อเป็นเกียรติในพิธีมอบเหรียญรางวัลในการแข่งขันได้ ทั้งนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลายครั้งหลายหน แต่ที่เกิดเป็นประเด็นสงสัยเป็นที่ถกเถียงกันในสังคมอย่างกว้างขวาง คือ การที่นักกีฬาแบดมินตันไทยประเภทคู่ผสมชนะเลิศในการแข่งขันแบดมินตันชิงแชมป์โลก ประจำปี ค.ศ. 2021 ณ เมืองอูเอลบาร์ ประเทศสเปน ซึ่งในพิธีมอบเหรียญรางวัลในการแข่งขันดังกล่าว ผู้จัดการแข่งขันได้เชิญธงซึ่งเขียนด้วยตัวย่อภาษาอังกฤษว่า BAT ซึ่งหมายถึงสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทย (Badminton Association of Thailand) ขึ้นสู่ยอดเสาแทนที่จะเป็นธงชาติไทยตามที่เคยเป็นไปตามธรรมเนียมปฏิบัติ

วันนี้ จะมาย้อนอธิบายเหตุผลในกรณีที่เกิดขึ้น

วาดา (WADA) คือ องค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก หรือ World Anti-Doping Agency เป็นองค์กรอิสระที่มีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านการใช้สารกระตุ้นต้องห้ามทางกีฬา เดิมมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แต่ปัจจุบันสำนักงานใหญ่ของวาดาได้ย้ายมาอยู่ ณ ประเทศแคนาดา วาดาจัดตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1999 ตามมติของที่ประชุม IOC (International Olympic Committee) หรือคณะกรรมการโอลิมปิกสากล สืบเนื่องจาก IOC ตรวจพบนักกีฬาที่ใช้สารกระตุ้นต้องห้ามในการแข่งขันเรื่อยมานับตั้งแต่การแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนที่กรุงมิวนิกเมื่อปี ค.ศ. 1972 ต่อมาตำรวจฝรั่งเศสได้ตรวจพบและจับกุมนักกีฬาและเครือข่ายจำนวนมากที่ใช้สารกระตุ้นต้องห้ามในการแข่งขันจักรยานทางไกล (Tour de France) เมื่อปี ค.ศ. 1998 จึงทำให้วงการกีฬาตระหนักถึงปัญหาและความสำคัญของการใช้สารกระตุ้นต้องห้ามในวงการกีฬา IOC จึงได้จัดประชุมและมีมติให้จัดตั้งองค์กรวาดา (WADA) ขึ้นเพื่อจัดการกับปัญหาดังกล่าว


ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับวงการกีฬาไทย คือ วาดาได้ออกกฎการต่อต้านสารกระตุ้นโลกล่าสุดประจำปี ค.ศ. 2021 ในข้อ 43 ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎการต่อต้านสารกระตุ้นโลกของวาดา เมื่อปี ค.ศ. 2015 ในข้อ 20.5 เรื่อง บทบาทและความรับผิดชอบขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการใช้สารกระตุ้นต้องห้ามของประเทศต่าง ๆ ซึ่งวาดากำหนดให้มีคุณสมบัติคือต้องเป็นองค์กรอิสระไม่เกี่ยวข้องกับรัฐ องค์กรหรือบุคลากรที่ดูแลเรื่องการกีฬา สมาคม นักกีฬา หรือเจ้าหน้าที่การกีฬาของประเทศนั้น ๆ แต่เนื่องจากพระราชบัญญัติควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ. 2555 ของไทยที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ได้บัญญัติให้หน่วยงานที่กำกับดูแลในเรื่องการควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬาของประเทศไทย มีสำนักงานขึ้นอยู่กับการกีฬาแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวมทั้ง ปลัดกระทรวงอื่น ๆ อีกด้วย ซึ่งวาดาเห็นว่าขัดกับกฎการต่อต้านสารกระตุ้นโลกของวาดา ประจำปี ค.ศ.2021 ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น เมื่อวาดาเห็นว่ากฎหมายภายในของประเทศไทยไม่สอดคล้องกับกฎของวาดาที่บัญญัติขึ้นใหม่ จึงมีมติลงโทษประเทศไทย เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2564 จำนวน 4 ข้อ คือ

1) ไม่สามารถจัดกีฬานานาชาติระดับภูมิภาค ระดับทวีป และระดับโลก

2) ห้ามใช้ธงชาติไทย เพลงชาติไทย ในกีฬาระดับภูมิภาค ระดับทวีป และระดับโลก ยกเว้นโอลิมปิก และพาราลิมปิกเกมส์

3) ไม่สามารถรับสิทธิพิเศษใด ๆ จากวาดา รวมถึงไม่สามารถร่วมกิจกรรมใด ๆ ที่จัดโดยวาดาหรือที่วาดามีส่วนเกี่ยวข้อง และ

4) ตัวแทนจากประเทศไทยไม่สามารถร่วมเป็นสมาชิกในคณะกรรมการใด ๆ ของวาดา จึงทำให้เกิดเป็นประเด็นสงสัยเป็นที่ถกเถียงกันในสังคมอย่างกว้างขวาง ดังที่ได้กล่าวข้างต้น

ซึ่งในเรื่องดังกล่าวการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ชี้แจงว่าไทยไม่เคยบกพร่องการตรวจสอบและควบคุมการใช้สารกระตุ้นในนักกีฬา เพียงแต่ข้อกำหนดในพระราชบัญญัติควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ. 2555 ไม่สอดคล้องกับกฎการต่อต้านสารกระตุ้นโลกของวาดา ประจำปี ค.ศ. 2021 ที่กำหนดให้นักกีฬาสามารถตรวจสารกระตุ้นได้ตลอด 24 ชั่วโมง แต่กฎหมายของประเทศไทยกำหนดให้นักกีฬาสามารถตรวจสารกระตุ้นในระหว่างเวลาทำการ และผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยพยายามแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยตลอด ซึ่งกรณีของไทยแตกต่างจากอินโดนีเซีย และเกาหลีเหนือที่โดนแบนจากการที่ไม่ได้ตรวจสอบและควบคุมการใช้สารกระตุ้นต้องห้ามในนักกีฬา แนวทางการแก้ไขปัญหาของไทย คือ จะมีการตราพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้สอดคล้องกับเรื่องดังกล่าว และนำเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปกฎหมายโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) และเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป ส่วนการแยกออกเป็นองค์กรอิสระนั้นแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างของการกีฬาแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพราะจะต้องมีการจัดตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาใหม่ ซึ่งย่อมรวมถึงเรื่องบุคลากรและเงินสนับสนุนด้วย

ล่าสุด คณะรัฐมนตรีได้ออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ. 2555 พ.ศ. 2564 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2564 และให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ซึ่งต้องคอยดูกันต่อไปว่าทางวาดาจะมีความเห็นต่อการแก้ไขกฎหมายในเรื่องดังกล่าวของประเทศไทยอย่างไร และจะออกมาตรการยกเลิกการลงโทษแก่วงการกีฬาของประเทศไทยหรือไม่

ภาพปก