มาตรการปิดเมือง (Lockdown) กับการควบคุมโรคโควิด 19 ในประเทศไทย

Script Writer
ศรันยา สีมา, นิติกรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2022-01
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

"โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19))" เป็นโรคอุบัติใหม่ที่ติดต่อกันผ่านทางระบบทางเดินหายใจ ทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการไอ เจ็บคอ หรือมีอาการของโรคปอดอักเสบ ในรายที่มีอาการรุนแรงจะมีอาการระบบทางเดินหายใจล้มเหลวและอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยพบผู้ป่วยรายแรกเมื่อเดือนธันวาคม 2562 ที่เมืองอู่ฮั่น สาธารณรัฐประชาชนจีน จากนั้นได้เกิดการแพร่ระบาดในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยซึ่งพบผู้ป่วยรายแรกเมื่อเดือนมกราคม 2563 ภายหลังการแพร่ระบาดในประเทศต่าง ๆ ได้มีการนำมาตรการทางสาธารณสุข เช่น การเว้นระยะห่างทางสังคม การสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ การล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์มาใช้ในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค แต่จำนวนผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง จึงได้มีการนำมาตรการปิดเมือง (Lockdown) มาใช้เพิ่มเติมควบคู่ไปกับมาตรการสาธารณสุขที่ใช้อยู่ เพื่อให้การควบคุมการแพร่ระบาดทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

"มาตรการปิดเมือง" (Lockdown) เป็นมาตรการที่ห้ามไม่ให้บุคคลในพื้นที่เดินทางออกนอกพื้นที่และห้ามไม่ให้บุคคลนอกพื้นที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่ รวมถึงการสั่งหยุดกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการระบาดของโรคโควิด 19 เพื่อลดการแพร่กระจายของโรค โดยถูกนำมาใช้ครั้งแรกในสาธารณรัฐประชาชนจีน รู้จักกันในชื่อ "อู่ฮั่นโมเดล" ซึ่งเป็นการใช้มาตรการปิดเมืองแบบเข้มงวดในพื้นที่เมืองอู่ฮั่นและอีกหลายเมืองในมณฑลหูเป่ย ตั้งแต่ 23 มกราคม 2563 ถึง 8 เมษายน 2563 เป็นเวลา 76 วัน โดยมีการประกาศปิดให้บริการระบบขนส่งสาธารณะ ปิดถนนและทางหลวงสายหลักทั่วเมือง ห้ามประชาชนเดินทางเข้าหรือออกเมืองโดยไม่มีข้อยกเว้น ปิดสถานศึกษา สถานประกอบธุรกิจ และร้านค้าทุกประเภท ยกเว้นร้านอาหาร ร้านขายยา ซูเปอร์มาเก็ต และโรงงานที่ผลิตสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น อาหาร ยา รวมทั้งห้ามประชาชนออกนอกบ้าน ผลจากการใช้มาตรการปิดเมืองแบบเข้มงวดนี้ ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อในมณฑลหูเป่ยลดลงอย่างรวดเร็วและกลายเป็นต้นแบบในการใช้มาตรการปิดเมืองในเวลาต่อมา

มาตรการปิดเมืองถูกนำมาใช้ในประเทศไทยภายหลังพบผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนจากสถานบันเทิงและสนามมวยในกรุงเทพมหานคร รวมทั้งการเข้าร่วมชุมนุมทางศาสนาที่ประเทศมาเลเซีย มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักรและออกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 กำหนดข้อปฏิบัติในเรื่องต่าง ๆ โดยนำมาตรการปิดเมืองมาใช้ร่วมด้วย เช่น ห้ามประชาชนเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงต่อการติดโรค ปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดโรค เช่น สนามมวย สนามกีฬา ห้ามบุคคลเดินทางเข้าประเทศไทยยกเว้นบุคคลที่ได้รับการผ่อนผัน ให้ประชาชนงดหรือชะลอการเดินทางข้ามจังหวัด ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป และต่อมาได้เพิ่มความเข้มงวดขึ้นอีกโดยนำมาตรการห้ามประชาชนออกนอกบ้านในเวลาที่กำหนด (Curfew) มาใช้ร่วมด้วย มาตรการปิดเมืองถูกใช้อย่างเข้มงวดมาระยะหนึ่งจนเมื่อสถานการณ์ดีขึ้นจึงได้เริ่มผ่อนปรนลงจนกระทั่งไม่พบผู้ป่วยในประเทศไทยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2563

การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในประเทศไทยเกิดขึ้นอีกครั้งตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2563 และยังคงระบาดอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งในการควบคุมการแพร่ระบาดนี้ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้แบ่งพื้นที่สถานการณ์และกำหนดสีตามระดับความรุนแรงของการแพร่ระบาดออกเป็น 5 กลุ่ม คือ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) พื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) พื้นที่ควบคุม (สีส้ม) พื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) และพื้นที่เฝ้าระวัง (สีเขียว) เพื่อให้สามารถกำหนดมาตรการได้อย่างเหมาะสมกับความรุนแรงในพื้นที่ โดยนำมาตรการปิดเมืองมาใช้ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดและพื้นที่ควบคุมสูงสุด คือ กำหนดให้ปิดสถานที่ที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด เช่น สถานบริการ สนามมวย สนามเด็กเล่น ห้ามใช้อาคารของสถานศึกษาและสถาบันกวดวิชาเพื่อจัดการเรียนการสอนเว้นแต่เป็นการสอนทางไกล ให้ประชาชนงดเดินทางออกนอกพื้นที่โดยไม่มีเหตุจำเป็น จำกัดเวลาเปิด-ปิด ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ ขนส่งสาธารณะ อีกทั้งเมื่อการแพร่ระบาดรุนแรงขึ้นได้มีการนำมาตรการห้ามไม่ให้ประชาชนออกนอกเคหสถานระหว่างเวลาที่กำหนดและการปฏิบัติงานนอกสถานที่ทำงาน (Work From Home: WFH) มาใช้เพิ่มเติมเพื่อลดการแพร่ระบาดด้วย 

มาตรการปิดเมืองจะมีประสิทธิผลในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับความเข้มงวดในการใช้มาตรการ ยิ่งมีความเข้มงวดมากก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพมาก แต่ในขณะเดียวกันก็จะส่งผลกระทบต่อประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศมากตามไปด้วย การนำมาตรการปิดเมืองมาใช้จึงต้องคำนึงถึงความจำเป็นและผลกระทบที่จะขึ้นอย่างรอบด้าน รวมทั้งต้องมีมาตรการรองรับผลกระทบที่ตามมาด้วยเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน   
 

ภาพปก