เอทีเอ็มสีขาว (White Label ATM)

Script Writer
พิมพ์ธัญญา ฆ้องเสนาะ, วิทยากรปฏิบัติการ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2020-11
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนเครื่องเอทีเอ็มทั้งประเทศสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก อย่างไรก็ตาม คนไทยยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ทั่วถึง เนื่องจากพบว่าที่ตั้งเอทีเอ็มส่วนใหญ่ยังมีการกระจุกตัวอยู่แค่บางพื้นที่ของประเทศ จนอาจเกิดการวางทับซ้อนกัน มีภาระต้นทุนทางการเงินที่สูง นำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำทางการเงิน โดยในแต่ละปีมีปริมาณการใช้เอทีเอ็มในการทำธุรกรรมมากกว่า 1,081 ล้านครั้งต่อปี โดยครึ่งหนึ่งใช้เพื่อถอนเงินและโอนเงินข้ามเขต หรือต่างธนาคารที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมคิดเป็นเงินสูงถึง 22,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งสถาบันการเงินต้องแบกรับภาระต้นทุนทั้งด้านการลงตู้เอทีเอ็ม เช่น ค่าเช่าสถานที่ และต้นทุนการบริหารจัดการ เงินสดเป็นจำนวนสูงถึง 28,500 ล้านบาทต่อปี การผลักดันให้เกิดเอทีเอ็มสีขาว หรือ White Label ATM จึงเป็นวาระและเป้าหมายสำคัญของธนาคารแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทย ในปี 2563 เพื่อช่วยแบ่งเบาต้นทุนที่ซ้ำซ้อนให้กับสถาบันการเงิน จึงอาจทำให้เกิดการประหยัดผ่านการใช้ทรัพยากรร่วมกัน และสามารถตอบโจทย์การกระจายการเข้าถึงบริการทางการเงินพื้นฐานได้มากยิ่งขึ้น

เอทีเอ็มสีขาว เป็นระบบเอทีเอ็มที่ไม่มียี่ห้อหรือเครื่องหมายการค้า ไม่แบ่งแยกว่าเป็นเอทีเอ็มของธนาคารใด แต่เป็นเอทีเอ็มกลางที่รับบัตรของทุกธนาคาร ซึ่งวัตถุประสงค์ของเอทีเอ็มสีขาวคือ ต้องการให้ระบบธนาคารหรือสถาบันการเงินมีต้นทุนที่ลดลง ทั้งจากการลงทุนตัวเครื่องเอทีเอ็ม และจากการบริหารจัดการเงินสดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดการแออัดของตู้เอทีเอ็มที่อยู่ร่วมกันจำนวนมาก โดยประโยชน์ของเอทีเอ็มสีขาว มีดังนี้

1. ลดต้นทุนการลงทุนตู้เอทีเอ็ม ปัจจุบันมีต้นทุนเฉลี่ยประมาณเครื่องละ 400,000-500,000 บาท แต่ละเครื่องจะมีอายุการใช้งานประมาณ 8-10 ปี โดยในแต่ละปีอาจมีการเปลี่ยนเครื่องอย่างน้อย 7,000-8,000 เครื่อง จึงทำให้เกิดเป็นต้นทุนประมาณ 3,200 ล้านบาท เมื่อธนาคารหรือสถาบันการเงินมีการใช้ตู้เอทีเอ็มร่วมกัน ก็จะส่งผลให้ลดเงินลงทุนเครื่องเอทีเอ็ม และค่าใช้จ่ายในการซ่อมและการบำรุงรักษาได้ทันที

2. ลดต้นทุนการบริหารจัดการเงินสดทั้งระบบ ซึ่งต้นทุนการผลิตและการขนเงินสดทั้งระบบมีประมาณปีละ 50,000 ล้านบาท โดยต้นทุนร้อยละ 80 หรือมากกว่า 40,000 ล้านบาทต่อปี จะอยู่ในส่วนที่ธนาคารหรือสถาบันการเงินต้องแบกรับในการขนเงินสดจากศูนย์จัดการธนบัตรไปยังศูนย์เงินสด และจากศูนย์เงินสดไปยังตู้เอทีเอ็มหรือสาขา ซึ่งเอทีเอ็มสีขาวจะช่วยลดต้นทุนที่เป็นพื้นที่บริการทับซ้อนจากการใช้บริการรถขนเงินที่วิ่งในเส้นทางเดียวกัน

3. เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดสรรตู้เอทีเอ็ม ซึ่งในหลายพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะจังหวัดสำคัญและเมืองขนาดใหญ่ มีเอทีเอ็มจากหลากหลายสถาบันทางการเงินกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่เดียวกันเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดความไม่มีประสิทธิภาพในการจัดสรรตู้เอทีเอ็ม โดยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีหลายจุดที่มีสาขาของธนาคารที่มีตู้เอทีเอ็มในระยะทาง 1 กิโลเมตร ในขณะที่บางหมู่บ้านในบางจังหวัดไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน รวมทั้งตู้เอทีเอ็มแม้ในระยะทาง 5 กิโลเมตร แนวคิดเอทีเอ็มสีขาวมีวัตถุประสงค์เพื่อกระจายตู้เอทีเอ็มไปยังพื้นที่ห่างไกล โดยการนำเครื่องเอทีเอ็มที่กระจุกตัวอยู่ในบางพื้นที่และมีการใช้งานที่ไม่คุ้มค่า ไปวางตั้งไว้ในพื้นที่ที่ยังไม่มีตู้เอทีเอ็ม จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น 
    
ทั้งนี้ แม้ว่าแนวคิดเอทีเอ็มสีขาว จะช่วยให้ธนาคารหรือสถาบันการเงินลดต้นทุนทั้งด้านการลงทุนตู้เอทีเอ็ม และการบริการจัดการเงินสดให้มีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชน อย่างไรก็ตาม แนวทางในการดำเนินการดังกล่าว อาจไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากยังมีเงื่อนไขหลากหลายประการที่ธนาคารหรือสถาบันการเงินผู้ร่วมใช้ต้องทำความตกลงร่วมกัน อีกทั้งสถาบันการเงินจะต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่าในการลงทุนอย่างละเอียดและรอบคอบ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของเอทีเอ็มสีขาวที่ต้องการให้สถาบันการเงินทุกแห่งต่างได้รับประโยชน์ ช่วยกันลดต้นทุนด้านต่าง ๆ โดยไม่มีสถาบันการเงินใด ต้องเป็นผู้แบกรับต้นทุนของสถาบันการเงินอื่น ๆ ทั้งระบบแต่เพียงฝ่ายเดียว

ภาพปก