ป.ป.ช. ประจำจังหวัด

Script Writer
โชคสุข กรกิตติชัย, วิทยากรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2022-04
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัด (คณะกรรมการ ป.ป.จ.) หรือที่เรียกกันว่า “ป.ป.ช. ประจำจังหวัด” สืบเนื่องจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) ได้กำหนดแผนการจัดตั้งสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดขึ้น ด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 246 วรรคท้ายบัญญัติ “ให้มีกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัด โดยคุณสมบัติ กระบวนการสรรหา และอำนาจหน้าที่ ให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต” ซึ่งต่อมาได้มีการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554  โดยกำหนดให้มีกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัดขึ้น

ต่อมาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ออกระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติว่าด้วยกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัด พ.ศ. 2555 เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัด เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดตั้งกรรมการ ป.ป.ช. ประจำจังหวัด โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัด (คณะกรรมการ ป.ป.จ.) จะมีจังหวัดละไม่น้อยกว่า 3 คน แต่ไม่เกิน  5 คน ประกอบด้วย 1) ประธานกรรมการ ป.ป.จ. คนหนึ่ง และกรรมการ ป.ป.จ. ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. และให้ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. จังหวัดทำหน้าที่เป็นเลขานุการและคณะกรรมการ ป.ป.จ. มีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี นับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งและจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 1 วาระไม่ได้

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัด (คณะกรรมการ ป.ป.จ.) มีภารกิจปฏิบัติการในพื้นที่ ประกอบด้วย 1) สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค จำนวน 9 แห่ง และ 2) สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด จำนวน 76 แห่ง โดยสำนักงาน ป.ป.ช. แต่ละภาค มีสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดที่อยู่ในความรับผิดชอบ ดังนี้ 1) สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 1 จังหวัดนนทบุรี รับผิดชอบ 9 แห่ง 2) สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 2 จังหวัดชลบุรี รับผิดชอบ 8 แห่ง 3) สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 3 จังหวัดนครราชสีมา รับผิดชอบ 8 แห่ง 4) สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 4 จังหวัดขอนแก่น รับผิดชอบ 12 แห่ง 5) สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 5 จังหวัดเชียงใหม่ รับผิดชอบ 8 แห่ง 6) สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 6 จังหวัดพิษณุโลก รับผิดชอบ 9 แห่ง 7) สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 7 จังหวัดนครปฐม รับผิดชอบ 8 แห่ง 8) สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี รับผิดชอบ 7 แห่ง และ 9) สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 9 จังหวัดสงขลา รับผิดชอบ 7 แห่ง 

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัด (คณะกรรมการ ป.ป.จ.) มีอำนาจหน้าที่ในเขตจังหวัด ดังนี้

1) ส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยประสานความร่วมมือกับ ประชาชนและส่วนราชการ เพื่อเผยแพร่ความรู้ให้กับประชาชนได้ตระหนักถึงผลกระทบจากการทุจริตโดยดำเนินการเพื่อป้องกันการทุจริต และเสริมสร้างทัศนคติและค่านิยมเกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริต

2) เสนอมาตรการ ความเห็น หรือข้อเสนอแนะต่อ ป.ป.ช. เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

3) ตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐและรวบรวมพยานหลักฐานเสนอต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.

4) ตรวจสอบความถูกต้องและความมีอยู่จริง รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินและหนี้สินตามบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบที่ยื่นต่อ ป.ป.ช.

5) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมาย

เรามิอาจปฏิเสธได้ว่า การมี ป.ป.ช. ประจำจังหวัดถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหญ่สามารถตรวจสอบการทำงานของท้องถิ่นได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น อีกทั้งช่วยในการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันอีกด้วย แม้ว่าการดำเนินการอาจจะมีกระแสกดดันในการทำหน้าที่ตรวจสอบ หรือสุ่มเสี่ยงกับความเป็นกลางและความเป็นอิสระก็ตาม แต่ ป.ป.ช. ประจำจังหวัดก็ยังคงต้องทำหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตต่อไป เพื่อให้การทำงานของ ป.ป.ช. ในการพิจารณาสืบสวนสอบสวน อันเนื่องมาจากการร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันที่มีเพิ่มมากขึ้นได้สะดวกและรวดเร็ว

ภาพปก