สินค้าที่ใช้ได้สองทาง (Dual-Use items)

Script Writer
สุภาพิชญ์ ถิระวัฒน์, นิติกรชำนาญการ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2022-08
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาได้มีสถานการณ์การก่อการร้ายเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก เช่น การโจมตีโดยใช้แก๊สพิษที่สถานีรถไฟกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2538 การโจมตีตึกเวิร์ดเทรด เซ็นเตอร์ ที่เมืองนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 ประกอบกับในระยะหลังกลุ่มผู้ก่อการร้ายมีการนำวัสดุที่ไม่ใช่อาวุธโดยสภาพนำมาพัฒนา ผลิต ดัดแปลง หรือนำไปใช้เป็นส่วนประกอบของอาวุธเพื่อใช้ในการก่อการร้ายเพิ่มมากขึ้น ทำให้ประเทศต่าง ๆ ตระหนักถึงภัยที่อาจเกิดขึ้น และเริ่มให้ความสำคัญกับการกำหนดมาตรการควบคุม “สินค้าที่ใช้ได้สองทาง (Dual-Use items)” หรือ สินค้าซึ่งสามารถนำไปใช้ได้ทั้งทางพาณิชย์และทางทหาร เพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำสินค้าประเภทดังกล่าวไปพัฒนาหรือผลิตอาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างสูงและนำมาใช้ในการก่อการร้าย รวมทั้งเพื่อป้องกันไม่ให้ตกไปอยู่ในความครอบครองของผู้ก่อการร้าย เพราะสินค้าที่ใช้ได้สองทางเป็นสินค้าที่สามารถนำไปพัฒนาเป็นอาวุธได้ เช่น ส่วนประกอบของปุ๋ยสามารถนำมาใช้เป็นวัสดุในการผลิตระเบิด เส้นใยคาร์บอนไฟเบอร์ ซึ่งเป็นวัสดุในการผลิตไม้เทนนิส ไม้กอล์ฟ และอุปกรณ์กีฬาสามารถนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตจรวดหรือขีปนาวุธ รวมถึงสารโปแตสเซียมไซยาไนด์ที่ใช้ทำความสะอาดโลหะและสกัดสินแร่สามารถนำไปผลิตอาวุธเคมีได้ เป็นต้น 

ด้วยเหตุดังกล่าว เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้ออกข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ 1540 ค.ศ. 2004 (พ.ศ. 2547) กำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องมีมาตรการภายในประเทศในการป้องกันการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (Weapon of Mass Destruction: WMD) ได้แก่ อาวุธนิวเคลียร์ อาวุธเคมี อาวุธชีวภาพ และอาวุธอื่นใด ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตมนุษย์จำนวนมากหรือต่อสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง ตลอดจน “สินค้าทั่วไปที่สามารถประกอบ พัฒนา เสริมสร้าง และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง” โดยต้องมีระบบการควบคุมการส่งออก การส่งกลับ การนำเข้า การถ่ายลำ การผ่านแดน การเป็นนายหน้า และการดำเนินการใด ๆ เพื่อแพร่ขยายสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้อาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง เทคโนโลยี และวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องตกไปอยู่ในมือของกลุ่มผู้ก่อการร้าย และจากการออกข้อมติดังกล่าวส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ ต้องกำหนดมาตรการภายในประเทศเพื่อควบคุม “สินค้าที่ใช้ได้สองทาง” 

สำหรับประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิก คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2553 เห็นชอบให้กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าต่างประเทศเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำระบบการบริหารการส่งออกสินค้าที่ใช้ได้สองทางของไทยเพื่อกำกับดูแลสินค้าที่ใช้ได้สองทาง โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 เพื่อออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ควบคุมสินค้าที่ใช้ได้สองทางที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับควบคุมของหน่วยงานอื่น จัดทำบัญชีรายการสินค้าที่ใช้ได้สองทาง และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารการส่งออกสินค้าที่ใช้ได้สองทางขึ้น เพื่อกำหนดนโยบายการควบคุมการส่งออกและกำหนดบัญชีรายชื่อสินค้าที่ใช้ได้สองทางของไทย แต่อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวยังไม่สามารถครอบคลุมการปฏิบัติตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้อย่างครบถ้วน เนื่องจากการควบคุมสินค้าที่ใช้ได้สองทางในขณะนั้นยังไม่ครอบคลุมสินค้าที่จับต้องไม่ได้ เช่น เทคโนโลยีและซอฟต์แวร์ และการเป็นนายหน้า ต่อมาจึงได้มีการตรา “พระราชบัญญัติการควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ. 2562” ขึ้นซึ่งมีผลใช้บังคับแล้วเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2563

พระราชบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดคำนิยามของคำว่า “สินค้าที่ใช้ได้สองทาง” ไว้อย่างชัดเจนว่า หมายถึง “สินค้าที่นำไปใช้ได้ทั้งในทางพลเรือนและทางทหารโดยสามารถนำไปใช้ออกแบบ พัฒนา ผลิต ใช้ ดัดแปลง จัดเก็บ หรือลำเลียงอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง หรือนำไปกระทำด้วยประการใด ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง” และกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์โดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงมีอำนาจประกาศกำหนดมาตรการในการควบคุม เช่น กำหนดสินค้าที่ต้องขออนุญาตหรือต้องมีการรับรองว่าสินค้านั้นไม่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง กำหนดมาตรการอื่นใดเพื่อประโยชน์ในการควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง เป็นต้น รวมทั้งได้กำหนดโทษทางปกครอง ความรับผิดทางแพ่ง และโทษทางอาญาไว้ด้วย

ปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์ได้ออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง มาตรการเพื่อประโยชน์ในการควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง และมาตรการเกี่ยวกับสินค้าที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการใช้สุดท้ายหรือผู้ใช้สุดท้ายเกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ. 2564 เพื่อกำหนดมาตรการห้ามส่งออก ส่งกลับ ถ่ายลำ ผ่านแดน และถ่ายโอนเทคโนโลยีและซอฟต์แวร์ซึ่งสินค้าที่ใช้ได้สองทาง และสินค้าที่เข้าข่ายว่าเป็นสินค้าที่ใช้ได้สองทางหากพบว่ามีความเสี่ยงต่อการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง กำหนดขั้นตอนให้ผู้ที่เกี่ยวข้องชี้แจงข้อมูลเพื่อพิสูจน์ว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง และสามารถยื่นคำขอให้ทบทวนเพื่อยกเลิกการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวได้ นอกจากนั้น กระทรวงพาณิชย์ได้มีการพัฒนาระบบการบริหารการควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (e-TCWMD: Thailand Consortium on Trade of Weapons of Mass Destruction) เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการในการดำเนินการตามประกาศกระทรวงพาณิชย์อีกด้วย

ภาพปก