สถานกงสุลไทยในต่างแดน

Script Writer
นฐมลย์ พงษ์รอจน์, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2022-08
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (International Relations) ช่องทางการทูต (Diplomacy) ได้ถูกใช้เพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างกันทั้งในด้านการเมือง การค้า เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และความร่วมมือสองฝ่าย (Bilateral cooperation) ตลอดจนการให้การคุ้มครองส่งเสริมผลประโยชน์ของคนในชาติของตนที่อยู่ในอีกประเทศหนึ่ง ดังนั้น เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในระดับทวิภาคี (Bilateral Relations) และปกป้องผลประโยชน์ระหว่างกันนั้น จึงมีการแลกเปลี่ยนการจัดตั้งหน่วยงานหรือตัวแทนไปประจำยังต่างประเทศขึ้น ซึ่งได้แก่ สถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่ สถานกงสุล คณะผู้แทนถาวร เพื่อให้การดำเนินความสัมพันธ์ทางด้านต่าง ๆ ในอีกประเทศหนึ่งมีความใกล้ชิด สะดวกรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพครั้งนี้ จะขอกล่าวถึงหน่วยงานของไทยในต่างแดนที่มีลำดับรองลงมาจากสถานเอกอัครราชทูต (Royal Thai Embassy) นั้นก็คือ “สถานกงสุลใหญ่” (Royal Thai Consulate-General) ซึ่งตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการต่างประเทศ พ.ศ. 2558 ข้อ 17 ได้กำหนดให้สถานกงสุลใหญ่ มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
    (1) ดำเนินการเกี่ยวกับงานด้านกงสุล ตลอดจนดูแล ปกป้อง และคุ้มครองผลประโยชน์ของประเทศไทยและคนไทยในประเทศที่อยู่ในความรับผิดชอบ
    (2) ดำเนินการเกี่ยวกับการส่งเสริมความสัมพันธ์และรายงานสถานการณ์ทางการค้า เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมในประเทศที่อยู่ในความรับผิดชอบมายังกระทรวง
    (3) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอึ่นที่เกี่ยวข้อง หรือที่ได้รับมอบหมาย

ส่วนเจ้าหน้าที่ทางการทูตผู้ที่ปฏิบัติงานในสถานกงสุลใหญ่ในต่างแดนนั้น ประกอบด้วย
        (1)  กงสุลใหญ่ (Consul General)
        (2) กงสุล (Consul)
        (3) รองกงสุล (Vice Consul)

หากจะกล่าวโดยสรุปถึงอำนาจหน้าที่ของสถานกงสุลใหญ่ตามที่ได้มีการปฏิบัติจริง คือการส่งเสริมและปกป้องผลประโยชน์ความสัมพันธ์ของไทยกับประเทศต่าง ๆ ในเมืองที่สถานกงสุลตั้งอยู่รวมถึงเขตอาณา (หมายถึง เมืองซึ่งสถานกงสุลใหญ่ดูแลด้วยแม้จะไม่มีสำนักงานอยู่ในบริเวณนั้น ๆ) ในด้านการค้า เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี และความร่วมมือสองฝ่ายตลอดจนการให้การคุ้มครอง ส่งเสริมผลประโยชน์ของคนไทยในเขตอาณา และดำเนินการออกหนังสือเดินทาง หรือเอกสารเดินทางให้แก่ผู้ที่มีสัญชาติไทย ดำเนินการตรวจลงตราหนังสือเดินทาง หรือเอกสารเดินทางแก่บุคคลที่จะเดินทางไปยังประเทศไทย รวมทั้งปฏิบัติการเกี่ยวกับการทะเบียนต่าง ๆ 

โดยปกติในแต่ละประเทศอาจมีการจัดตั้งสถานกงสุลใหญ่ได้มากกว่าหนึ่งแห่ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของประเทศนั้น ๆ และสัดส่วนของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมถึงจำนวนของประชากรไทย ที่ไปประกอบอาชีพ ตั้งถิ่นฐาน หรือศึกษาเล่าเรียนในประเทศที่มีการจัดตั้งสถานกงสุลใหญ่นั้น ในขณะที่การจัดตั้งสถานเอกอัครราชทูตในประเทศหนึ่งจะมีได้เพียงแห่งเดียวเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกา นอกจากสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน แล้ว ยังมีสถานกงสุลใหญ่อีก 3 แห่ง คือ 1) สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส 2) สถานกงสุลใหญ่ ณ นครชิคาโก และ 3) สถานกงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์ก ในสาธารณรัฐประชาชนจีน นอกจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง แล้ว ยังมีสถานกงสุลใหญ่อีก  9 แห่ง ได้แก่

1) สถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว

2) สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกง

3) สถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง

4) สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้

5) สถานกงสุลใหญ่ ณ นครซีอาน

6) สถานกงสุลใหญ่   ณ นครหนานหนิง

7) สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู

8) สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเซี่ยเหมิน

9) สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองชิงต่าว เป็นต้น

ปัจจุบันมีการจัดตั้งสถานกงสุลใหญ่ไทย จำนวน 28 แห่ง ใน 13 ประเทศ ทั่วโลก ได้แก่  เครือรัฐออสเตรเลีย แคนาดา สาธารณรัฐประชาชนจีน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี สาธารณรัฐอินเดีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สหพันธรัฐมาเลเซีย สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน ราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหรัฐอเมริกา และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

ภาพปก