ปัญหาผู้ใช้ยานพาหนะเสพกัญชา

Script Writer
อาริยา สุขโต, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2022-08
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

นับตั้งแต่กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้กัญชาและกัญชง ออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษในประเภท 5 หรือการปลดล็อกกัญชาไม่ใช่ยาเสพติด โดยมีผลเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกัญชาและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาได้โดยไม่ผิดกฎหมาย จุดมุ่งหมายของการปลดล็อกกัญชาจากยาเสพติด คือ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ สุขภาพและเศรษฐกิจ ทำให้ประเทศไทยมีการใช้กัญชาอย่างเสรี แม้จะไม่ส่งเสริมให้ใช้สันทนาการ แต่การใช้เพื่อสันทนาการยังไม่มีกฎหมายควบคุมเฉพาะ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกำลังเตรียมการจัดระเบียบเพื่อการควบคุม ในเรื่องการสูบที่สร้างความรำคาญหรือการสูบแล้วขับขี่ยานพาหนะ เมื่อมีช่องว่างกฎหมายในการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ ก็ยิ่งเอื้อให้การเข้าถึงกัญชาทำได้ง่ายขึ้นในหลายรูปแบบ ทำให้การปลดล็อกในครั้งนี้นำมาซึ่งความกังวลของหลายภาคส่วนว่าผู้ที่ใช้กัญชาจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการขับขี่ยานพาหนะในลักษณะเดียวกับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือไม่เพียงใดและจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาอุบัติเหตุทางถนนให้ทวีความรุนแรงมากขึ้นจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบันหรือไม่

หลังปลดล็อกกัญชาทำให้พืชกัญชาถูกนำมาใช้ในหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นอาหาร เครื่องดื่ม เวชภัณฑ์ เวชสำอาง แต่ที่เห็นเป็นผลิตภัณฑ์แพร่หลาย คือ สารสกัดน้ำมันกัญชาที่ใช้ในทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย หรือ ผู้ที่นอนหลับยาก รวมถึงการนำส่วนของใบกัญชามาเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหาร ทั้งนี้ ส่วนสำคัญของกัญชามีสารที่ส่งผลต่อจิตและประสาท คือ ส่วนของดอกกัญชาที่มีสารเตตร้าไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol) หรือ สาร THC ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ทำให้มึนเมาหรือเคลิ้ม ที่เรียกว่าอาการ “ลอย” หรือ “ไฮ” หรืออารมณ์ทะยานสูง ซึ่งมีผลในการลดทอนประสาทสัมผัสและการรับรู้ได้ชัดเจน จึงมีประเด็นว่าหากผู้ใช้กัญชามีการขับขี่ยานพาหนะทั้งส่วนบุคคลและขนส่งมวลชน โดยเฉพาะจากการสูบกัญชาแล้วขับรถ เนื่องจากกัญชามีผลต่อสมองทำให้สมรรถนะในการขับขี่ลดลงเหมือนเมาสุราแล้วขับ ในขณะที่ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายลงโทษผู้ที่เมากัญชาแล้วขับแต่อย่างใด ดังนั้น หากมีการใช้กัญชาไม่ควรขับขี่ยานพาหนะโดยเด็ดขาดเพราะอาจจะก่อให้เกิดอันตรายทั้งกับตัวเองและผู้ร่วมทางบนท้องถนน

มีกรณีศึกษาในต่างประเทศที่มีการเปิดเสรีการใช้กัญชาเกี่ยวกับการเสพกัญชาที่จะส่งผลต่อสมรรถนะในการขับขี่ยานพาหนะ พบว่าการใช้กัญชาส่งผลกระทบต่อความสามารถบางประการในการขับขี่ได้อย่างชัดเจนแม้ว่าจะมีฤทธิ์น้อยกว่าสารเสพติดชนิดอื่น แต่เมื่อเปรียบเทียบกับแอลกอฮอล์พบว่าการใช้กัญชาอาจกระทบต่อความว่องไวต่อปฏิกิริยาการตอบโต้ การใช้สมาธิในการขับขี่หรือความสามารถในการรับรู้ สำหรับประเทศที่ได้อนุญาตให้ใช้กัญชาได้อย่างเสรี จะมีกฎหมายในการดำเนินการต่อผู้เสพกัญชาแล้วขับขี่ยานพาหนะแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นประเทศอุรุกวัย ที่กำหนดว่าผู้ขับขี่ที่ตรวจเลือดและพบว่ามีสาร THC ถือว่าเป็นผู้มีความบกพร่องในการขับขี่ หรือประเทศสหรัฐอเมริกาทั้ง 50 รัฐ มีการจัดการกับปัญหาดังกล่าวด้วยวิธีเดียวกับปัญหาดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยจะนำกรณีเมากัญชาแล้วขับเข้าสู่ระบบกฎหมายว่าด้วยขับรถภายใต้อิทธิพลของแอลกอฮอล์หรือสารเสพติด ปัจจุบันแม้จะยังไม่มีข้อมูลสนับสนุนถึงผลกระทบของการใช้กัญชาต่อสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนโดยตรง แต่ก็มีข้อแนะนำเรื่องการใช้กัญชาในส่วนที่เกี่ยวกับการขับรถว่าผู้ที่ใช้กัญชาไม่ควรขับรถหรือทำงานกับเครื่องจักรในระยะ 6 ชั่วโมงหลังใช้กัญชา เพราะมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุรุนแรงได้สูง ทั้งนี้ ผลของกัญชาขึ้นอยู่กับปริมาณสารออกฤทธิ์ที่เสพและความสามารถในการขับสารออกในแต่ละคนที่แตกต่างกัน ดังนั้น พฤติกรรมการใช้กัญชาในบางกรณีภาครัฐจำเป็นต้องควบคุม อาทิ การสูบต้องไม่ก่อความรำคาญกับผู้อื่น การสูบหรือเสพแล้วขับรถอาจผิดกฎหมายเช่นเดียวกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับ หรือเมาแล้วขับ การใช้ช่อดอกซึ่งมีสารเสพติดต้องระมัดระวัง ห้ามจำหน่ายแก่เด็ก หรือบุคคลต้องแจ้งอายุก่อนซื้อกัญชาโดยอนุญาตให้จำหน่ายแก่ผู้ที่บรรลุนิติภาวะแล้วเท่านั้น อีกทั้งการผลิตจำหน่ายต้องมีการเสียภาษี

การเตรียมการด้านกฎหมายรองรับการปลดล็อกกัญชา เพื่อให้หน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายจราจรทางบกสามารถใช้เป็นเครื่องมือทางกฎหมายในการป้องกันอุบัติเหตุจากกรณีขับขี่สำหรับผู้เสพกัญชา แม้ว่ากรณีเมากัญชา แล้วขับรถยังไม่เข้าข้อกฎหมายตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 มาตรา 43 (2) ห้ามมิให้ผู้ขับขี่รถในขณะเมาสุราหรือของมึนเมาอย่างอื่น ซึ่งไม่ต้องแก้ข้อกฎหมาย แต่การจะประกาศว่ากัญชาเป็น “ของมึนเมาอย่างอื่น” ตามความผิดในมาตรานี้ จะต้องมีข้อมูลที่เพียงพอเพื่อจะใช้ในการออกประกาศ โดยใช้การพิจารณาข้อกำหนดความเข้มข้นของสาร THC ในเลือดของผู้ขับขี่ ซึ่งจะต้องรอข้อมูลทางการแพทย์ และข้อมูลรอบด้านก่อนจะกำหนดหลักเกณฑ์ ทั้งนี้ เพื่อสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนว่าการขับขี่ยานพาหนะสำหรับผู้เสพกัญชาเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ และเพื่อให้หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องนำมาศึกษาและจัดทำนโยบายที่เหมาะสมต่อไป

ภาพปก