สถาบันดำรงราชานุภาพ

Script Writer
โชคสุข กรกิตติชัย, วิทยากรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2022-12
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

“สถาบันดำรงราชานุภาพ” มีจุดเริ่มต้นมาจากแนวคิดของกระทรวงมหาดไทยที่ได้ตระหนักถึงภาระหน้าที่ความรับผิดชอบอันกว้างขวางว่า จะต้องบริหารงานตอบสนองความต้องการของประเทศชาติและประชาชนให้ทันกับกระแสความเปลี่ยนแปลงของสังคมและเทคโนโลยี ปลัดกระทรวงมหาดไทย (นายอนันต์ อนันตกูล) ในขณะนั้น เป็นผู้ริเริ่มให้มีการจัดตั้งหน่วยงานที่มีลักษณะเป็นแหล่งความรู้/ความคิด (Think Tank) ของกระทรวงมหาดไทยขึ้น ดังที่ท่านได้กล่าวไว้ในการประชุมคณะกรรมการพิจารณาการจัดตั้ง “สถาบันดำรงราชานุภาพ” เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2534 ความตอนหนึ่งว่า “...ความจำเป็นของกระทรวงมหาดไทย ก็คือ ต้องการมีสถาบัน ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อที่จะได้ปรึกษาหารือในเรื่องการกำหนดนโยบาย กลยุทธ์ และแนวทางในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของส่วนราชการ รวมทั้งหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัด นอกจากนั้น มีวัตถุประสงค์สำคัญในการปรับปรุงระบบ คือ การพัฒนาระบบบริหารราชการ โดยมุ่งหวังจะให้สถาบันแห่งนี้มีทีมงานที่เป็นนักวิชาการสามารถที่จะไปช่วยในการวางแผน ให้คำปรึกษาหารือในเรื่องที่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินของกรม รัฐวิสาหกิจ และจังหวัด...”

ต่อมาเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2535 ซึ่งเป็นวันที่กระทรวงมหาดไทย สถาปนาครบ 100 ปี และเพื่อเป็นการถวายพระเกียรติแด่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์ปฐมเสนาบดีของกระทรวงมหาดไทย ผู้ทรงรอบรู้สรรพวิชาหลายสาขา กอปรด้วยวิจารณญาณลุ่มลึกกว้างไกล ทรงเป็นเอตทัคคะ (หมายถึง “ผู้เป็นยอดในทางใดทางหนึ่งเป็นพิเศษ”) ในด้านรัฐประศาสนศาสตร์ และงานแผ่นดินอย่างแท้จริง กระทรวงมหาดไทยจึงน้อมนำพระนามของพระองค์มาตั้งเป็นชื่อของสถาบันทางวิชาการที่จัดตั้งขึ้นใหม่ว่า “สถาบันดำรงราชานุภาพ” ซึ่งเป็นส่วนราชการระดับสำนักในสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย จัดตั้งขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2535 เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2535 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2535 

มีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งเพื่อให้กระทรวงมหาดไทยสามารถดำเนินการ ดังนี้

  1. สามารถกำหนดยุทธศาสตร์การปกครองประเทศตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
  2. สามารถกำหนดยุทธศาสตร์การบริหารราชการและการพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  3. เพื่อให้บุคลากรของกระทรวงมหาดไทยได้มีการพัฒนาความสามารถ ประสบการณ์ และทัศนคติที่ถูกต้องในการปฏิบัติราชการ

สำหรับอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของสถาบันดำรงราชานุภาพ มีดังนี้

  1. พัฒนาหลักสูตรการพัฒนาบุคลากรและประเมินผลการพัฒนาบุคลากรของสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย (สป.มท.) และกระทรวงมหาดไทย (มท.)
  2. พัฒนาระบบงานของสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย (สป.มท.) และกระทรวงมหาดไทย (มท.)
  3. พัฒนาและบริหารจัดการความรู้ของสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย (สป.มท.)
  4. ช่วยเหลือสนับสนุนการบริหารและการพัฒนาองค์กรของสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย (สป.มท.) และกระทรวงมหาดไทย (มท.)
  5. ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือได้รับมอบหมาย

โดยสถาบันดำรงราชานุภาพ ได้แบ่งโครงสร้างของสถาบันออกเป็น 5 กลุ่มงาน ได้แก่ 

  1. กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา มีหน้าที่ความรับผิดชอบในเรื่องการศึกษา วิเคราะห์ วิจัยต่าง ๆ เช่น พัฒนาระบบการบริหารราชการ สมรรถนะที่จำเป็นในการพัฒนาข้าราชการ เป็นต้น 
  2. กลุ่มงานพัฒนาและบริหารจัดการความรู้ มีหน้าที่ความรับผิดชอบในเรื่องการค้นหาองค์ความรู้ต่าง ๆ การบริหารจัดการเว็บไซต์ของสถาบันฯ เป็นต้น 
  3. วิทยาลัยมหาดไทย มีหน้าที่ความรับผิดชอบในการฝึกอบรมบุคลากรของกระทรวงมหาดไทย 
  4. กลุ่มงานพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มีหน้าที่ความรับผิดชอบในเรื่องการจัดทำนโยบายและแผนพัฒนาบุคลากร เป็นต้น  
  5. กลุ่มงานอำนวยการ มีหน้าที่ความรับผิดชอบในเรื่องงานธุรการ งานสารบรรณ จัดทำคำของบประมาณประจำปี เป็นต้น

สถาบันดำรงราชานุภาพ ปัจจุบันตั้งอยู่ที่อาคารสถาบันดำรงราชานุภาพ (อาคารสำนักนโยบายและแผนเดิม) ภายในบริเวณกระทรวงมหาดไทย ถนนอัษฎางค์ แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพฯ มีการให้บริการต่าง ๆ เช่น ห้องสมุดกระทรวงมหาดไทย ศูนย์เอกสารเพื่อการวิจัยกระทรวงมหาดไทย วิทยาลัยมหาดไทย (โรงเรียนนักปกครองระดับสูง ระดับกลางของกระทรวงมหาดไทย) เป็นต้น นับตั้งแต่ปี 2535 จนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลา 30 ปีแล้ว ที่สถาบันดำรงราชานุภาพได้กำหนดนโยบายกลยุทธ์และพัฒนาทรัพยากรบุคคลของกระทรวงมหาดไทยให้มีความรู้ ความสามารถ ก้าวทันเทคโนโลยี แก้ไขปัญหา สร้างความรอบรู้ และความมีจริยธรรมที่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชน รวมทั้งปลุกจิตสำนึกร่วมความเป็น “คนมหาดไทย” เพื่อธำรงไว้ซึ่งปณิธาน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” อันเป็นหลักปรัชญาในการทำงานของกระทรวงมหาดไทยที่ทำเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เพื่อนำความสุขและรอยยิ้มกลับคืนสู่ประชาชนด้วยความภาคภูมิใจ

ภาพปก